ระยะเวลาผ่านไปเกือบครบปีกับการที่คนไทยต้องอดทนอยู่กับการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันล่วงเลยมาถึงระบาดระลอกใหม่แล้ว แม้ช่วงปลายปี 2563 สถานการณ์โควิดใกล้จะดีขึ้น แต่ความหวังต้องพังทลาย เพราะเกิดโควิดรอบใหม่ ทำให้ประชาชน ห้างร้าน ผู้ประกอบการต่าง ๆ หวั่นวิตกไม่มากก็น้อย กลัวจะต้องปิดกิจการ เจ๊งกันไปอีกรอบ แถมแรงงานก็หวั่นจะตกงาน
ช่วงต้น–กลางปี 2563 รัฐบาลพยายามคิดหามาตรการเข้ามาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกแรก ส่วนใหญ่ตอนนั้นถูกกระทบจากการประกาศล็อกดาวน์ ทำให้ห้างร้าน กิจการต่าง ๆ พากันปิดชั่วคราว ตลอดไปจนปิดถาวรเลยก็มี เพราะไปต่อไม่ไหวเมื่อขาดรายได้ ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดลง แถมไม่มีเงินหมุนเข้าระบบเศรษฐกิจ
จนเกิดมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลต้องกู้เงินบางส่วนเพื่อมาจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะคนอาชีพอิสระที่ถูกกระทบด้านรายได้หดหายลงไป โดยรัฐบาลเยียวยาให้เดือนละ 5,000 บาท นาน 3 เดือน รวม 15,000 บาทต่อราย จากทั้งหมดกว่า 15 ล้านคน ใช้งบประมาณไม่เกิน 240,000 ล้านบาท ถือว่าไม่น้อยทีเดียว
แต่สิ่งที่เป็นที่พูดถึงกันมากในเวลานั้นคือการบริหารจัดการพิสูจน์คนได้รับผลกระทบ ขั้นตอนการลงทะเบียน ค่อนข้างซับซ้อน ยุ่งยาก ยากลำบากไม่น้อย เพราะเป็นเรื่องใหม่มากทีเดียวสำหรับ พ่อค้าแม่ค้า ชาวบ้านธรรมดา ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีเท่าไรนัก
และขณะนั้นไม่สามารถตรวจเช็ค หรือแน่ใจได้ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อเลี้ยงชีพ ซื้อข้าวปลาอาหารจริงหรือไม่ เพราะรัฐบาลจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารโดยตรง และถอนเป็นเงินสด ออกมาใช้จ่ายได้ทุกอย่าง และนั่น..ไม่การันตีว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไรบ้าง แม้รัฐบาลจะไม่ได้หวังเรื่องนั้น แต่ต้องการเพียงช่วยเหลือเยียวยาแบบเร่งด่วนเท่านั้น
จนเวลาล่วงเลยเข้าการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่อีกครั้ง ทำให้ต้องนำ “เราไม่ทิ้งกัน” มาปัดฝุ่นสู่โครงการ “เราชนะ” แจกเงินเพื่อเยียวยาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้มีความแตกต่างจาก เราไม่ทิ้งกัน ค่อนข้างมาก โดยหวังช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 300,000 บาท และมีเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ รวมเงินฝากประจำไม่เกิน 500,000 บาท หรือเรียกว่า ผู้มีอาชีพอิสระที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง
ลักษณะการจ่ายเงินเยียวยารอบนี้รัฐบาลให้ไม่เกิน 7,000 บาทตลอดโครงการ นาน 2 เดือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ(บัตรคนจน) ซึ่งมี 13 ล้านคน 2.กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชั่น เป๋าตัง มีทั้งสิ้น 15 ล้านคน และ 3.กลุ่มผู้ไม่มีฐานข้อมูลตามข้อ 1 และข้อ 2 ซึ่งจะเป็นจำนวนที่เหลือ 3-4 ล้านคน รวมทั้งหมดตามที่คาดการณ์ไว้ 31.1 ล้านคน รวมงบประมาณที่ต้องใช้ 210,200 ล้านบาท
โครงการ เราชนะ ยังสนับสนุนสังคมไร้เงินสด เพราะไม่สามารถถอนออกมาเป็นเงินสดใช้จ่ายใด ๆ ได้เหมือนกับ เราไม่ทิ้งกัน โดยต้องใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการ และแอปพลิเคชั่นเป๋าตังเท่านั้น แถมต้องใช้กับร้านค้าที่ลงทะเบียน มีแอปพลิเคชั่น ถุงเงิน เป็นร้านค้าเล็ก ๆ รวมถึงบริการ ร้านตัดผม แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ และที่สำคัญ..รัฐบาลสามารถตรวจสอบการใช้เงินได้ว่า นำไปใช้จ่ายในครัวเรือนจริง ไม่ได้เก็บ ไม่ได้เอาไปใช้หนี้ เพื่อหวังเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ 0.5-0.6% ต่อจีดีพี สนับสนุนบริโภคในประเทศให้ขับเคลื่อนประเทศไปได้ในยามวิกฤตินี้
ท้ายที่สุดโครงการเราชนะจะช่วยเยียวยาและประสบผลอย่างไรยังคงต้องรอติดตาม แต่ที่รู้แน่ชัดคือความแตกต่างระหว่าง เราไม่ทิ้งกัน กับ เราชนะ แม้จะให้เงินเยียวยาเหมือนกันก็จริง แต่การใช้เงินต่างกันโดยสิ้นเชิง โครงการเราชนะจะเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทยให้ไปสู่สังคมไร้เงินสดได้ในเวลาอันใกล้นี้แน่นอน