นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ประเมินเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 63 จะติดลบ 6.6% ดีกว่าเดิมที่คาดติดลบ 7.8% จากการบริโภคเอกชนและส่งออกสินค้าดีขึ้น ส่วนในปี 64 คาดว่าจะขยายตัว 3.2% ลดลงจากการประเมินครั้งก่อนที่ขยายตัว 3.6% เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงมาอยู่ที่ 5.5 ล้านคน จากโควิด-19 ในต่างประเทศที่ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่คาด และตามการพัฒนาวัคซีนที่ยังจำกัด
ทั้งนี้จากปัจจัยข้างต้นทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีน้อยกว่าเดิม รวมทั้งการระบาดรอบใหม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าเพิ่มเติม ขณะที่ปี 65 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 4.8% ตามการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจากผลการได้รับวัคซีนที่แพร่หลายขึ้น
“การระบาดโควิด-19 รอบใหม่ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจบ้างแต่ไม่นานนัก 1-2 เดือน ผลกระทบยังอยู่ในวงจำกัด และไม่ได้เหมือนกับเดือนเม.ย. การควบคุมอาจเป็นรายพื้นที่เหมือนกับต่างประเทศ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณหนึ่ง แต่จะควบคุมได้ ซึ่งต้องชั่งน้ำหนัก ทำให้การขยายตัวปีหน้ามีผลกระทบและมีความเสี่ยงสูงมาก ต้องจับตาใกล้ชิด โดยเฉพาะการพัฒนาวัคซีน ไตรมาส 2 ประเทศพัฒนาแล้วจะเริ่มมีวัคซีนให้ประชาชนมากกว่า 30% ไตรมาสที่ 3 ประเทศนักท่องเที่ยวหลักของไทยเข้าถึงวัคซีนกว่า 30% ส่วนในไทยจะเข้าถึงวัคซีน 20% สิ้นปี 64 และ ครึ่งหลังปี 65 ประเทศส่วนใหญ่และคนไทยจะเข้าถึงวัคซีน 60-70%”
นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมทยอยฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวยังแตกต่างกันมากตามพื้นที่ และสาขาธุรกิจ ในระยะข้างหน้าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงด้านต่ำอีกมาก จากสถานการณ์โควิด-19ที่ยืดเยื้อในต่างประเทศและการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ประกอบกับประสิทธิผลและการเข้าถึงวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอน
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะถัดไปยังมีความไม่แน่นอนสูง ที่สำคัญได้แก่ สถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทยที่อาจรุนแรงขึ้นและลุกลามกว่าที่คาด รวมถึงความไม่แน่นอนของประสิทธิภาพและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ดังนั้นมาตรการภาครัฐจำเป็นต้องมีความต่อเนื่อง และต้องมีการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงาน เพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน