ปัจจุบันตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน หรือที่รู้จักกันดีคือสินเชื่อ จำนำทะเบียนรถ (คาร์ฟอร์แคช) เติบโตค่อนข้างมาก จน 1-2 ปีก่อน ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องล้อมคอกธุรกิจประเภทนี้ เนื่องจากมีผู้ให้บริการคาร์ฟอร์แคชหลายรายที่เรียกเก็บดอกเบี้ยโหด เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ทำให้ ธปท. ต้องเรียกตีทะเบียนทั้งหมด หากใครประสงค์อยากทำธุรกิจจำนำทะเบียนรถ จะต้องเข้ามาขอใบอนุญาต(ไลเซ่นส์)ก่อนถึงจะทำธุรกิจได้
สำหรับใบอนุญาตทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ หากเป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทจะต้องมาขอใบอนุญาตสินเชื่อส่วนบุคคล(Personal Loan) วงเงินปล่อยสินเชื่อขึ้นอยู่กับหลักประกัน คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 24% ต่อปี แต่หากเป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท จะต้องมาขอใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์ให้บริการได้เฉพาะจังหวัดเท่านั้น วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี
โดยจากข้อมูลของธปท.มีผู้ให้บริการทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ทั้งอยู่ภายใต้ธนาคาร และนอนแบงก์ รวมกันมีสูงถึง 1,000 ราย มีผู้ใช้บริการ 3 ล้านราย ปรากฎยอดสินเชื่อคงค้างในระบบกว่า 200,000 ล้านบาท ทั้งนี้หากดูข้อมูลจากธนาคารออมสิน พบว่ายังมีประชาชนอีก 3.1 ล้านรายที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จึงเข้าลงทุนบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด บริษัทลูกของบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SAWAD ในสัดส่วนไม่เกิน 49% เพื่อหวังกดดอกเบี้ยในตลาดให้ต่ำกว่า 18% ต่อปี
แล้วรู้หรือไม่? ว่าแท้ที่จริงแล้ว ดอกเบี้ยของผู้ให้บริการแต่ละรายคิดกันอัตราที่เท่าไรกันแน่! ซึ่งใครหลายคนอาจร้อนเงิน!! เพราะยุควิกฤติเศรษฐกิจในรอบนี้ส่งผลกระทบไปทั่วไม่ว่าจะอยู่อาชีพใด ยิ่งคนค้าขาย ใช้รถทำมาหากิน อาจหมุนเงินไม่ทัน หาเงินไม่พอ จนหาที่พึ่งหวังนำเงินมาเติมทุน โดยใช้รถเป็นหลักประกันมาขอสินเชื่อกับผู้ให้บริการต่าง ๆ ได้เวลามาส่องกันว่าแล้วใครให้เท่าไร?
หลัง “ธนาคารออมสิน” ได้ประกาศลงทุนใน “เงินสดทันใจ” ได้การันตีว่า ดอกเบี้ยจะต้องไม่เกิน 18% ต่อปี หากคิดเป็นเดือนก็คงอยู่ราว ๆ 1.5% ต่อเดือน ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของการเป็นแบงก์รัฐ เพราะต้องให้คนไทยได้เข้าถึงบริการทางการเงิน ประมาณว่า “ใครไม่เอาเราเอา!!!” และตั้งใจจะปล่อยกู้ไม่เกินวงเงิน 200,000 บาทต่อราย
ส่วนผู้ให้บริการรายอื่น ๆ อย่างเบอร์หนึ่งในตลาดสินเชื่อ จำนำทะเบียนรถ “บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)” หรือ MTC คู่แข่งคนสำคัญของ SAWAD ได้ปรับกลยุทธ์หลังการเข้ามาของธนาคารออมสินทำให้สมรภูมิสงครามด้านดอกเบี้ยค่อนข้างดุเดือด จน MTC ตั้งธงปรับดอกเบี้ยจาก 19% ให้เหลือ 18% ต่อปีเช่นเดียวกัน โดยมีวงเงินปล่อยกู้ต่อราย ถ้าเป็นจักรยานยนต์ตั้งแต่ 3,000-100,000 บาท รถยนต์ไม่เกิน 500,000 บาท และรถใช้เพื่อการเกษตร วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 400,000 บาท
มาดูเบอร์หนึ่งของสินเชื่อยานยนต์อย่าง“กรุงศรี ออโต้”กันบ้าง ซึ่งมีสินเชื่อจำนำทะเบียนรถภายใต้ชื่อ คาร์ ฟอร์ แคช การคิดดอกเบี้ยจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แบบโอนเล่ม(รถปลอดหนี้) ดอกเบี้ยเริ่ม 3.18-15% ต่อปี ส่วนไม่โอนเล่ม(ยังผ่อนอยู่) คิดดอกเบี้ย 12-18% ต่อปี ปล่อยกู้เต็ม 100% ของราคาหลักประกัน หรือราคารถ
ด้าน “สมหวัง เงินสั่งได้” สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ภายใต้บริษัท ไฮเวย์ จำกัด บริษัทในกลุ่มธนาคารทิสโก้ คิดดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.49% ต่อเดือน หรือ 5.88% ต่อปี โดยเฉลี่ยคิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 12% ต่อปี ให้วงเงินสูงสุด 100-150% ของราคาประเมินรถยนต์
ขณะที่น้องใหม่ที่เพิ่งเริ่มเข้าตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนได้ 2-3 เดือนที่ผ่านมา “เคทีซี พี่เบิ้ม” ของบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KTC ได้คิดดอกเบี้ยอยู่ในช่วง 21-24% ต่อปี ซึ่งไม่เกินเพดานดอกเบี้ยตามที่ธปท.กำหนด แต่หากดูแล้วอาจจะสูงกว่าเจ้าตลาดเดิมอยู่ค่อนข้างมาก จุดแข็งของ “เคทีซี พี่เบิ้ม” คือ ความรวดเร็วในการอนุมัติแค่ภายใน 2 ชั่วโมงเท่านั้น และมีช่องทางออนไลน์เพิ่มความสะดวก ส่วนวงเงินกู้ให้สูงสุด 80% ของหลักประกันรถในกรณีต้องเป็นแบบปลอดหนี้หมดภาระแล้ว
ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ให้บริการเจ้าใหญ่ที่คนต้องการเงินด่วนเลือกใช้บริการ เพราะมีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่ง ซึ่งยังมีผู้ให้บริการอีกมากในตลาด และอาจอยู่ใกล้บ้านท่าน ข้อแนะนำอันดับแรกก่อนจะเซ็นสัญญากู้เงินเลยคือ เสียเวลาอ่านเงื่อนไขให้เข้าใจ จะได้ไม่ถูกหลอก ถูกเอาเปรียบ และที่สำคัญ “ต้องคิดให้ดีก่อนเป็นหนี้” เพราะการหยิบยืมกู้เงิน คือ การเป็นหนี้ ฉะนั้น “มีหนี้ต้องใช้คืน” จะได้ไม่ต้องมาเป็นปัญหาในภายหลัง!