ไทยยังเนื้อหอม ต่างชาติแห่ซื้อหุ้น–พันธบัตร รวม 19 วัน 6.97 หมื่นล้านบาททำเงินไหลเข้าสูงสุดในรอบ 17 เดือน ดัน เงินบาท แข็งค่าแตะ 30.14 บาทต่อดอลลาร์ทำสถิติในรอบ 10 เดือนสวนทางแบงก์ชาติออก 3 มาตรการสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย จับตางัดเครื่องมือสกัดบาทแข็งต่อหลังทิศทางปลายปีมีโอกาสถึง 29.00 บาทต่อดอลลาร์
ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาท เคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ระบุ เงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์แตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 10 เดือนที่ 30.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับสกุลเงินเอเชียก็มีแรงหนุนจากการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ด้วยเช่นกัน
จากนั้นทยอยอ่อนค่ากลับมาช่วงกลางสัปดาห์หลังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ส่งสัญญาณเตือนถึงการแข็งค่าที่เร็วเกินไป ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดมองว่า มาตรการธปท. ทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่ ปรับเกณฑ์ FCD คลายเกณฑ์ลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย และกำหนดลงทะเบียนแสดงตัวตนซื้อ–ขายตราสารหนี้ เป็นมาตรการที่เน้นดูแลสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ไม่ใช่การสกัดเงินทุนไหลเข้า ทำให้เงินบาทปิดตลาดวันที่ 20 พ.ย.ที่ 30.29 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับสัปดาห์นี้ (23-27 พ.ย.) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลการส่งออกเดือนต.ค. ของกระทรวงพาณิชย์ และสถานการณ์ทางการเมืองไทย
นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เปิดข้อมูลระหว่างวันที่ 1-19 พ.ย. 2563 พบว่า มีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นและพันธบัตรรวมกันเป็นจำนวน 69,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 เดือน ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าสูงสุดในรอบ 10 เดือนอีกครั้ง จน ธปท.มีประเด็นที่น่ากังวล เพราะการแข็งค่าของเงินบาทในเวลานี้อาจกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
ทำให้ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ธปท.ได้ออกมาตรการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การคลายเกณฑ์สำหรับการเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit: FCD) สำหรับคนไทย 2. การขยายวงเงินและประเภทหลักทรัพย์ต่างประเทศที่นักลงทุนไทยสามารถลงทุนได้ และ 3. การกำหนดให้มีการลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อ–ขายตราสารหนี้ (Bond Pre-trade Registration) ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการของหลายประเทศในเอเชีย อาทิ เกาเหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน ซึ่งเปิดรับเงินทุนเคลื่อนย้าย และนักลงทุนสามารถซื้อ–ขายตราสารหนี้ได้อย่างเสรีแต่ต้องมีการระบุตัวตนที่ชัดเจน
“มาตรการดูแลค่าเงินบาทของธปท. เน้นเป้าหมายในการสร้างสมดุลให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายขาเข้า–ขาออกเพื่อเตรียมรับมือกับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจจะมีโอกาสไหลเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินไทยมากขึ้นในระยะข้างหน้า ขณะที่ในฝั่งเงินดอลลาร์ฯ เองก็ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าตามสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้”
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุว่า ยังต้องใช้เวลาอีกระยะ เพื่อติดตามประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าวในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้กับนักลงทุนไทย เพื่อเพิ่มแรงซื้อเงินตราต่างประเทศ ชะลอเงินบาทแข็ง เนื่องจากการกระจายพอร์ตการลงทุนยังขึ้นอยู่กับจังหวะและสภาพตลาดต่างประเทศ ผลตอบแทนเปรียบเทียบเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
รวมถึงความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับกรณีนักลงทุนรายย่อย ขณะที่การกำหนดเกณฑ์ยืนยันตัวตนก่อนการซื้อขายตราสารหนี้อาจช่วยลดความผันผวนที่เกิดจากการพักเงินระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะมีผลกับการเคลื่อนไหวของเงินบาทในบางช่วง แต่ไม่ใช่มาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้า
ขณะเดียวกันปัจจัยพื้นฐานจากแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอาจหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจจะโน้มอ่อนค่าลงเพิ่มเติมในช่วงปีข้างหน้าตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ และสัญญาณการยืนดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ
ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าผ่านระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในปี 2564 และประเมินค่าเงินบาทไว้ที่ระดับ 29.00-29.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นปี 2564 ดังนั้นธปท. อาจจำเป็นต้องเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดความผันผวนในระยะสั้น และประเมินความจำเป็นของการปรับใช้มาตรการดูแลเงินบาทเพิ่มเติมอีกในระยะต่อๆ ไป