ที่อยู่อาศัยถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ และเป็นสิ่งที่คนไทยต้องการเป็นอันดับต้น ๆ รองจากรถยนต์ ทำให้หนี้ครัวเรือนช่วงที่ผ่านมาในประเทศไทย เร่งขึ้นจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์ โดยเป็นสินเชื่อที่ใช้เวลาในการผ่อนชำระค่อนข้างนาน ทำให้หลายคนมีวิธีจัดการหนี้สินระยะยาวนี้แตกต่างกันออกไป และวิธียอดฮิตมากที่สุดคือ การย้ายจากธนาคารเดิม ไปอยู่กับธนาคารใหม่ หรือเรียกว่าการ “รีไฟแนนซ์”
หลายคนที่กำลังผ่อนซื้อบ้านกับธนาคารแล้วเกิดคำถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องรีไฟแนนซ์ทุก ๆ 3 ปี แต่ถ้าเลือกไม่รีไฟแนนซ์ ผ่อนแบบเดิมไปเรื่อย ๆ จะได้หรือไม่ หรือหากขอธนาคารเดิมลดดอกเบี้ย ที่เรียกว่า รีเทนชั่น จะคุ้มหรือเปล่า?
การรีไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นการกู้เงินก้อนใหม่ไปโปะหนี้ก้อนเก่า เพื่อลดภาระการผ่อนชำระ โดยมีสินทรัพย์หรือบ้านเป็นหลักประกัน ซึ่งจะได้รับเงื่อนไขที่ดีและคุ้มกว่าเดิม เช่น ดอกเบี้ยลดลง จำนวนเงินผ่อนต่อเดือนลดลง หรือระยะเวลาผ่อนนานขึ้น โดยทั่วไปธนาคารจะมีเงื่อนไขให้รีไฟแนนซ์ได้ หลังจากผ่อนบ้านไปแล้วอย่างน้อย 3 – 5 ปี
ดังนั้นการรีไฟแนนซ์บ้าน ก็เหมือนกับการขอเงินกู้ใหม่ เพราะต้องดำเนินเรื่องใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่การยื่นขอสินเชื่อ ประเมินราคาหลักประกัน และอนุมัติวงเงินกู้ รวมทั้งต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการยื่นกู้ ค่าโอน จดจำนองใหม่ด้วย ทำให้ก่อนจะรีไฟแนนซ์ต้องคิดให้ดีว่า รีไฟแนนซ์แล้วคุ้มหรือไม่
ซึ่งหลายธนาคารมักจะยื่นข้อเสนอฟรีค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ หรือค่าธรรมเนียมการโอนต่างๆ เพื่อจูงใจให้เข้ามารีไฟแนนซ์ที่ธนาคารตนเอง โดยได้รับข้อเสนอดอกเบี้ยดีอีกด้วย แต่อย่าลืมตรวจสอบสัญญาเงินกู้กับธนาคารเดิมด้วยว่า สามารถรีไฟแนนซ์ได้ในปีที่เท่าไร จะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับ และถามข้อเสนอธนาคารเดิมด้วยว่า สามารถลดดอกเบี้ย ทำรีเทนชั่น เหลืออัตราดอกเบี้ยที่เท่าไร
นอกจากนี้เราอาจต้องเปรียบเทียบกับธนาคารต่าง ๆ ว่าใครที่ให้ดอกเบี้ยต่ำที่สุด เพื่อต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจ โดยสามารถยื่นเอกสารขอรีไฟแนนซ์ได้หลายธนาคาร หรืออาจลองยื่นสัก 3 แห่งขึ้นไป เพื่อมาเปรียบเทียบความคุ้มค่าของดอกเบี้ย และโปรโมชั่นจูงใจ
มาเปรียบเทียบกันว่าระหว่าง รีไฟแนนซ์ กับ รีเทนชั่น จะมีความแตกต่างกันอย่างไร? ตัวอย่างยอดหนี้คงค้างสินเชื่อบ้านเหลือ 1.5 ล้านบาท เมื่อ “รีไฟแนนซ์” ปีแรกดอกเบี้ย 2.5% ปีต่อๆไปประมาณ 7% เมื่อคำนวณดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีจะอยู่ที่ 4.17% ต่อปี แต่อย่าลืมบวกค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งเมื่อรวมค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระในการทำรีไฟแนนซ์อาจอยู่ที่ราวๆ 20,000 บาทหากเงินยอดคงค้างเหลือ 1.5 ล้านบาท
แต่หากทำ “รีเทนชั่น” คืออยู่กับธนาคารเดิม แต่ขอลดดอกเบี้ยลงมาหน่อย อาจจะได้ดอกเบี้ยสักในอัตรา 4.75% ซึ่งมากกว่าการรีไฟแนนซ์ แต่ข้อดีคือไม่ต้องเสียเวลา และไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่ดอกเบี้ยที่ต้องชำระสูงกว่าการทำรีไฟแนนซ์ ทำให้ผู้ที่ผ่อนบ้านอยู่อาจต้องชั่งใจและคำนวณตัวเลขให้ดี
ซึ่งเมื่อผ่านไป 3 ปี ดอกเบี้ย 4.75% เมื่ออยู่ธนาคารเดิมหรือจะอยู่ที่ 192,450 บาท แต่หากรีไฟแนนซ์ ดอกเบี้ยจะเหลือ 4.17% ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 167,435 บาท แต่ในส่วนนี้ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่าย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆแล้ว อาจจะต้องจ่าย ใกล้ๆกับ อยู่ธนาคารเดิม แล้วแต่ยอดคงค้างก็เป็นได้
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ควรรีไฟแนนซ์ หรือ รีเทนชั่น เพียงง่าย ๆ ไม่ต้องคิดเยอะ หากตัวเรามียอดหนี้เกิน 1 ล้านบาท ต้องการกู้เพิ่ม หรือ ไม่มีแผนที่จะปิดยอดเร็ว เมื่อเข้าเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถขอ รีไฟแนนซ์ ได้เลย
แต่หากใครผ่อนมานาน เหลือยอดหนี้ไม่ถึง 1 ล้านบาท ไม่ต้องการกู้เพิ่ม หรือมีแผนว่าจะปิดยอดในเร็วๆนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปเสียค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียม และเสียเวลา ก็อยู่กับธนาคารเดิม แต่แค่ขอรีเทนชั่น ลดดอกเบี้ยเป็นอันพอ
ใครที่กำลังคิดอยู่ว่าจะ รีไฟแนนซ์ ธนาคารใหม่ หรือ รีเทนชั่น ธนาคารเดิม ลองคิดคำนวณดูถึงความคุ้มค่า ทั้งดอกเบี้ย เงินต้นคงเหลือ ผ่อนมาแล้วกี่ปี และค่าใช้จ่ายต่าง ๆว่า อย่างไหนคุ้มกว่ากัน!?