นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ในไตรมาส 2 ปี 66 ขยายตัว 1.8% ชะลอจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.6% รวมครึ่งปีแรกจีดีพีขยายตัว 2.2% โดยได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออกชะลอตัวติดลบ 5.7% ในไตรมาส 2 ซึ่งติดลบติดต่อกันมา 3 ไตรมาส และส่งผลกระทบมายังภาคการผลิตของอุตสาหกรรม คาดว่าทั้งปี 66 จีดีพีไทยจะขยายตัวได้ 2.5-3% ปรับลดลงจากเดิมที่คาด 2.7-3.7%
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคในประเทศ และนักท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง คือความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลกระทบบรรยากาศทางเศรษฐกิจ และกระทบกับงบประมาณ 67 ลงทุนต่างๆ , การชะลอตัวเศรษฐกิจโลก แม้ว่าไตรมาสสองเศรษฐกิจหลักปรับตัวดีขึ้น แต่ต้องเฝ้าระวังค่อนข้างมาก , เรื่องดอกเบี้ยนโยบายสูง , อัตราเงินเฟ้อประเทศเศรษฐกิจหลัก และเรื่องเศรษฐกิจจีนมีปัญหา เช่น ภาคอสังหาฯจีนมีปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เร็ว การว่างงานหนุ่มสาวในจีนสูง ส่งผลต่อการส่งออกของไทยในช่วงต่อไป
นอกจากนี้ปัญหาการเมืองยังมีการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่แน่นอน โดยนักลงทุนชะลอดูสถานการณ์หากมีความมั่นใจ เข้ามาลงทุนในไทยมาก ยอมรับตอนนี้นักลงทุนต่างประเทศรอสถานการณ์การเมืองไทยว่าเป็นอย่างไร ต้องพยายามช่วยกันรักษาบรรยากาศช่วงการเปลี่ยนผ่านให้เกิดความเรียบร้อยไม่กระทบบรรยากาศการลงทุน ซึ่งในเวลานี้ต้องเร่งเบิกจ่ายงบออกมาในช่วงที่งบประมาณปี 67 ยังไม่สามารถออกมาได้ คาดงบ 67 จะออกใช้เดือน เม.ย.67
อย่างไรก็ตามช่วงที่เหลือของปีต้องเร่งเบิกจ่ายในส่วนงบลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีปฏิทิน และบริษัทมหาชนมีวงเงินเบิกจ่าย 1.4 แสนล้านบาท และไตรมาสแรก 67 รัฐวิสหากิจกลุ่มนี้อีก 5 หมื่นล้านบาท รวมถึงคณะกรรมการ สศช.ได้อนุมัติวงเงินงบลงทุนผูกพันที่เป็นรัฐวิสาหกิจใช้ปีงบประมาณในส่วนนี้ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบเพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 1 แสนล้านบาท
นายดนุชา กล่าวว่า ต้องเร่งทำตลาดการส่งออก ดึงดูดการลงทุนต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง เร่งปรับโครงสร้างหนี้ เอสเอ็มอี และครัวเรือนช่วงที่เหลือของปีอย่างเต็มที่ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ยอมรับเกิดขึ้นมาแล้วแก้ยาก แต่ต้องทำเพื่อให้ช่วงที่เหลือให้คนมีกำลังการใช้จ่าย รวมทั้งเรื่องความกังวลผลผลิตการเกษตรจากผลกระทบเอลนีโญ และรองรับปริมาณน้ำลดลงให้มีน้ำเพียงพอผลิตทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม และบริโภค
“ต้องเร่งให้นักท่องเที่ยวเข้าไทยเพิ่มขึ้นและเร่งการใช้จ่ายได้มากกว่าเดิม โดยอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวจีนให้ได้มากที่สุด ตอนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากคืออินเดีย พยายามทำตลาดเพิ่ม และเกิดการใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปมากขึ้น นักท่องเที่ยวจีน เดิมมาได้ 5 ล้านคน แต่ตัวเลขจริงอาจไม่ถึง พยายามเร่งทำตลาดเพื่อให้ได้มากที่สุด นักท่องเที่ยวส่วนอื่น อินเดีย ยุโรป จะช่วยได้ตามเป้าหมาย 28 ล้านคน แต่ปัญหาคือการใช้จ่ายต่อทริปที่ผ่านมาใช้จ่ายไม่สูงนักจึงต้องเร่งทำตลาดให้ใช้จ่ายมากขึ้น”