จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีปัญหาชะลอตัว ทำให้รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการเพื่อประคองเศรษฐกิจไทยให้ยังเดินหน้าต่อ โดยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 62 วงเงิน 3.16 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเกิดการหมุนของเงินในระบบ ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวเพิ่มได้อีก 0.5% เคยตั้งข้อสงสัยกันไหมว่าเมื่อแจกเงินไปแล้ว เงินจะหมุนไปอย่างไรจนช่วยเพิ่ม GDP ได้ 0.5% ลองมาทำความเข้าไปพร้อมๆ กัน
แจกเงินเพื่อให้เกิดการใช้ กระตุ้นบริโภค
โดยปกติการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังจะมี 2 แบบ คือ การเพิ่มหรือลดภาษี และการแจกเงิน ในสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้เลือกใช้การ “แจกเงิน” เนื่องจากรัฐบาลต้องการเพิ่มการใช้จ่ายของประชาชน ตามหลักคิดว่าเมื่อประชาชนได้เงินไปแล้วก็จะนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยต่อ เกิดการบริโภคขึ้น ซึ่งการแจกเงินในมาตรการนี้มี 2 ส่วน การแจกเงินผ่านบัตรคนจน และแจกเงินให้คนไปเที่ยว
ในส่วนแรกการแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถ้าตามหลักคิดแล้วคือการช่วยเหลือคนจน ดังนั้นเมื่อแจกเงินไปแล้วเขาก็จะนำเงินไปซื้อของใช้ที่จำเป็น เช่น น้ำมัน ไข่ น้ำปลา ผงซักฟอง เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลิตในประเทศ ดังนั้นเมื่อมีการซื้อสินค้าเหล่านี้ก็ต้องมีการผลิตจากโรงงาน ส่วนโรงงานก็ต้องมีการจ้างพนักงาน สั่งซื้อสินค้ามาผลิต แหล่งผลิตต้นทางเช่นพืชผลการเกษตรก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย เงินก็จะเกิดการหมุนจากบัตรสวัสดิการผ่านร้านค้า ไปยังโรงงานผลิต ต่อไปยังส่วนอื่น เรื่อยๆ
ส่วนการแจกเงินให้คนไปเที่ยวก็หลักการเช่นเดียวกัน เมื่อภาคการท่องเที่ยวซบเซา ภาครัฐต้องการกระตุ้น ก็แจกเงินให้คนไปใช้จ่าย ค่ารถ ค่าเดินทาง ค่าโรงแรม ทานอาหาร เงิน 1,000 บาทที่แจกไป ก็จะหมุนในภาคการท่องเที่ยวด้วยเช่นเดียวกัน
แจกแล้วต้องใช้ ถ้าไม่ใช้ก็จบ
แต่มันมีเงื่อนไขสำคัญมันอยู่ที่ว่า เงินจะเกิดการหมุนจนกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เมื่อแจกเงินไปแล้วจะต้องมีการใช้จริง ดังนั้นถ้าหากคนรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี เลือกที่จะเก็บเงินไว้ก่อนยังไม่ใช้ตอนนี้ เงินมันก็จะไม่เกิดการหมุน หรือหากได้เงินแล้วแต่นำไปใช้หนี้แทนที่จะเอาไปซื้อของ เงินมันก็จะไม่ไหลสู่ระบบตามรัฐคาดไว้ เพราะเงินจะไปตกอยู่ที่เจ้าหนี้คนเดียว เป็นต้น
ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่ประเทศญี่ปุ่น ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเคยใช้วิธีการแจกเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะคนไม่ยอมใช้เงิน จนเกิดภาวะเงินฝืด รัฐบาลญี่ปุ่นจึงใช้วิธีการแจกเงิน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนญี่ปุ่นรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี กลัวอนาคตไม่มีเงินใช้ จึงเลือกที่จะเอาเงินไปฝากธนาคารแทนการซื้อของ จึงทำให้มาตรการไม่ได้ผล
รัฐบาลญี่ปุ่นจึงปรับวิธีมาแจกเป็นสินค้าแทนการแจกเงิน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นว่าคนที่ได้รับแจก เลือกที่จะเอาของที่ได้ไปขาย แล้วเอาเงินที่ขายได้ไปฝากธนาคารเหมือนเดิม มาตรการจึงไม่ได้ผลดี
ดังนั้นมาตรการจะเกิดผลได้ก็ต้องเกิดการใช้จ่ายจริงๆ และเพื่อให้เงินไปสู่ระบบตามรัฐบาลคิดไว้ จึงต้องมีการออกมาตรการว่าต้องใช้จ่ายกับร้านค้าที่รัฐกำหนดเท่านั้น เพราะร้านค้าเหล่านี้ ก็จะมีการสั่งของตามห่วงโซ่การผลิต ตามที่รัฐวางเอาไว้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เงินที่แจกไปก็จะถูกส่งต่อ หมุนในระบบ และช่วยดันการบริโภค หนุนการเติบโตตามที่รัฐบาลคิดเอาไว้
แต่อีกสิ่งที่สำคัญคือ มาตรการแจกเงินนี้เป็นเหมือนการแก้ปัญหาปลายเหตุ เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี คนไม่ใช้จ่าย รัฐก็เอาเงินใส่มือเพื่อให้เอาไปใช้ จึงเป็นมาตรการที่แก้ปัญหาได้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เพราะปัญหาไม่ได้ถูกแก้ที่ต้นเหตุ แต่แค่บรรเทาไม่ให้เศรษฐกิจมันชะลอหนักไปมากกกว่านี้เท่านั้นเอง