- ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา แตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 7 เดือน หลังต่างชาติเทชาติเนื่องจากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
- ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวท้ายสัปดาห์ หลังจากที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
- สัปดาห์นี้ติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าสู่ที่ประชุม ครม.
ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13-16 ส.ค.) เคลื่อนไหวในทิศทางขาลงตลอดทั้งสัปดาห์ ตามแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่กังวลต่อสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ประกอบกับผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงต่ำกว่าพันธบัตรอายุ 2 ปี ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะเดียวกันยังมีเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกง และสถานการณ์เศรษฐกิจของอาร์เจนติน่า
ดัชนีหุ้นไทยแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 7 เดือนที่ 1,590.55 จุด ก่อนจะกลับมาปิดปลายสัปดาห์ที่ 1,631.40 จุด ลดลง 1.17% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 75,604.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.22% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 2.13% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 350.02 จุด โดยตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงปลายสัปดาห์ หลังครม.เศรษฐกิจ มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
บล.กสิกรไทย จำกัด ประเมินว่าสัปดาห์นี้ (19-23 ส.ค.) ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,610 และ 1,590 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,640 และ 1,650 จุด ตามลำดับ
โดยปัจจัยที่ต้องติดตามในประเทศ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/62 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ให้ติดตามพัฒนาการของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงประเด็นความเสี่ยง BREXIT
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 30-31 ก.ค. รวมถึงสัญญาณที่อาจสะท้อนทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าจากถ้อยแถลงของประธานเฟด และสัมมนาประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole ระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค. ด้วยเช่นกัน รวมถึงยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสองเดือนก.ค. ของสหรัฐ ดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนส.ค.ของสหรัฐฯ ยูโรโซนและญี่ปุ่น รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ค. ของญี่ปุ่น
ส่วนทิศทางค่าเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา (13-16 ส.ค.) เงินบาททยอยอ่อนค่าลง โดยเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงต้นสัปดาห์เช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ เลื่อนเก็บภาษีจากวงเงินสินค้านำเข้าจากจีน 3 แสนล้านดอลลาร์ฯ เป็นวันที่ 15 ธ.ค.
นอกจากนี้ยังมีแรงขายของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย หลังเกิดภาวะความกังวลต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว ปรับตัวลงมาอยู่ต่ำกว่าระยะสั้น ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับสัปดาห์นี้ (19-23 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.70-31.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ