
หลังจากการประชุม Fed เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตลาดมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 25 Bps ขึ้นไปสู่ระดับ 5.25%-5.50% น่าจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ โดย Fed ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมีนาคมของปี 2022 เป็นจำนวน 11 ครั้งจากการประชุมทั้งหมด 12 ครั้ง โดยมีเพียงแค่การประชุมเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้เท่านั้นที่ Fed ไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ดีหลังจากรายงานประชุม ซึ่งเป็นการเปิดเผยรายละเอียดของการประชุมเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมออกมา เริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ย “ครั้งสุดท้าย” อาจจะยังไม่มาถึง และหลังจากนี้ยังคงต้องจับตาว่า Fed จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีกหรือไม่ โดยเฉพาะข้อความในรายงานการประชุมที่ระบุว่า คณะกรรมการ Fed ส่วนใหญ่ยังคงมองว่าความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นยังคงมีอยู่ และอาจจะมีความจำเป็นที่ยังคงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาคต
โดยหลังจากที่รายงานการประชุม Fed ถูกเปิดเผยออกมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.25% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา สะท้อนมุมมองของตลาดว่าอัตราดอกเบี้ยของ Fed อาจจะปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าในระดับปัจจุบัน
อย่างไรก็ดีหากดูไปที่มุมมองของตลาดผ่าน Fed fund futures ยังมีมุมมองว่าในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 20 กันยายนนี้ Fed จะยังคงอัตราดอกเบี้ยโดยให้น้ำหนักสูงถึงราว 86% โดยก่อนที่จะถึงการประชุม Fed ในครั้งถัดไป Fed จะเห็นตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเการเกษตรในเดือนสิงหาคมที่จะประกาศออกมาในวันที่ 1 กันยายน และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมที่จะประกาศออกมาในวันที่ 13 กันยายน ซึ่งเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมที่ประกาศออกมาล่าสุดอยู่ที่ 3.2% ถึงแม้จะต่ำกว่าที่ตลาดคาด แต่เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนมิถุนายนที่ 3% และตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมถือว่ายังเป็นความเสี่ยงสำคัญที่หากยังคงเร่งตัวขึ้นอีก อาจเป็นปัจจัยกดดันให้ Fed ตัดสินใจกลับมาขึ้นดอกเบี้ยต่อ
ซึ่งหากมองข้ามไปถึงการประชุมในวันที่ 1 เดือนพฤศจิกายน ตลาดเริ่มกลับมามองว่า Fed อาจจะมีการกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก โดย Fed fund futures ให้น้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ยที่ราว 36%
โดยที่ผ่านมา Jerome Powell ประธาน Fed พยายามสื่อสารหลายครั้งว่าการตัดสินใจการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบายต่อจากนี้ จะเป็นการตัดสินใจจากตัวเลขข้อมูลต่าง ๆ ทั้งการจ้างงาน เงินเฟ้อ และตัวเลขเศรษฐกิจทั้งการบริโภค การผลิตที่จะประกาศออกมา ซึ่ง Jerome Powell น่าจะมีการส่งสัญญาณให้ตลาดได้เห็นภาพมากขึ้นในการประชุม Jackson Hole Economic Policy Symposium ในวันที่ 24-26 สิงหาคมนี้ โดยถ้าย้อนภาพกลับไปในการประชุม Jackson Hole เมื่อปีที่แล้วการส่งสัญญาณว่าจะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อของ Jerome Powell ถือเป็นปัจจัยกดดันสำคัญที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงแรง
แต่สำหรับในปีนี้หากให้คาดการณ์ เชื่อว่าประธาน Fed อาจจะยังไม่ส่งสัญญาณอะไรออกมาแตกต่างจากเดิมมากนัก โดยคำว่า “การตัดสินใจแบบอิสระโดยยึดกับข้อมูลเศรษฐกิจประกอบเป็นหลัก” น่าจะยังเป็นคำที่ประธาน Fed เน้นย้ำ
ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของ Fed จะใช่การประชุมในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาหรือไม่ ตัวเลขเงินเฟ้อและตัวเลขการจ้างงานหลังจากนี้น่าจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกกับตลาดได้อย่างดีที่สุด