สมาคมประกันชีวิตไทย ลดคาดการณ์ธุรกิจประกันชีวิตปีนี้ หดตัว 2-5% ทำใจโควิด-19 ลากยอดเบี้ยรวม 4เดือนยอดติดลบกว่า 1% ชี้เศรษฐกิจโลกทรุด ดอกเบี้ยต่ำ ผลตอบแทนลงทุนหดหาย เทรนด์โปรดักต์ ประกันควบลงทุน นำโดย ยูนิตลิงค์ เบรกขาย “ออมทรัพย์”
นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยถึงทิศทางของธุรกิจประกันชีวิตหลังโควิด-19 ระบาดว่า จากผลกระทบสถานการณ์การควบคุมโรดคระบาดโควิด-19 ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ส่งผลให้ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับรวมจำนวน 189,380.48 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลง-1.24% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
โดยแยกเป็น 1. เบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ (New Business Premium) จำนวน 50,942.06 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 1.69% ซึ่งประกอบด้วย เบี้ยประกันชีวิตรับปีแรก จำนวน 33,217.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.24% เบี้ยประกันชีวิตรับจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) จำนวน 17,724.76 ล้านบาท ลดลง 7.30%
และ 2. เบี้ยประกันชีวิตรับปีต่ออายุ จำนวน 138,438.42 ล้านบาท ลดลง 2.27% และมีอัตราความคงอยู่ 80
“ปัจจัยหลักคงหนีไม่พ้นเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ดอกเบี้ยลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ผลตอบแทนจากการลงทุนลดลง ตามติดมาด้วยวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคด-19 ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจโลกทรุดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจประกันวิตในปี 2563 จะลดลง – 2% ถึง -5%”นางนุสรากล่าว
สำหรับการปรับคาดการณ์ของุรกิจประกันชีวิตในปีนี้ คาดว่าเบี้ยประกันภัยรับรวม 598,695.82 – 580,368.40 ล้านบาท ซึ่งสอดรับกับจีดีพีของประเทศที่ปรับลดลงเหลือ -5.3% เช่นกัน
ทั้งนี้ จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ธุรกิจประกันชีวิตได้ทยอยปรับตัวเป็น Digital Insurer มากขึ้น โดยมีวิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่งพฤติกรรมวิถีใหม่ หรือ New Normal
รวมถึงการเปิดให้ตัวแทนสามารถเสนอขายประกันผลิตภัณฑ์ประกันภัย ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดย เสียง และ/หรือภาพ กับลูกค้าได้ ภายใต้ประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
“ดังนั้นตัวแทนในวันนี้ จึงสามารถขายผ่านการใช้โทรศัพท์ แอพพลิเคชั่นไลน์ หรือการประชุมผ่านจอภาพกับลูกค้าแล้วขออนุญาตลูกค้าในการบันทึกภาพและเสียงเพื่อส่งให้บริษัท จากนั้นบริษัทจะทำการโทรศัพท์ขอคำยืนยันการทำประกันชีวิตกับกค้าร่วมด้วย” นางนุสรากล่าว
ด้านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้น ธุรกิจได้ทยอยปรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง มีการการันตีผลตอบแทน “ออก” จากตลาดกัน เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ภาคธุรกิจหาผลตอบแทนให้ลูกค้าได้ยากขึ้น
“แนวโน้มผลิตภัณฑ์นับจากนี้ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน Universal Life , Unit Linked , หรือ Participating Policy โดยเน้นการลงทุนตามความเสี่ยงที่ผู้เอาประกันภัยยอมรับได้ รวมถึงผลักดันผลิตภัณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองประเภทประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุซึ่งเบี้ยประกันภัยไม่แพง “นางนุสรากล่าว
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนตระหนักและให้ความสำคัญกับการประกันสุขภาพมากขึ้น นับเป็นข้อดีของการวางแผนสุขภาพก่อนการเจ็บป่วย ธุรกิจจึงได้มีการปรับผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพให้หลากหลายตรงกับความต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น
สำหรับอัตราการเสียชีวิตจากการโรคไวรัสโควิด-19 นั้น “น้อยมาก”เมื่อเทียบกับสถิติที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด เช่น โรคมะเร็งที่เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 215 คน หรือ 78,540 คนต่อปี โรคหัวใจที่เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 57 คน และเสียชีวิต 20,746 คนต่อปี หรือโรคร้ายอื่น ๆ
“สำหรับประชาชนที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้วขอให้ตรวจสอบว่ากรมธรรม์นั้นยังไม่ขาดผลบังคับเพื่อความมั่นใจว่ากรมธรรม์เดิมของท่านจะยังคงได้รับความคุ้มครองทั้งโควิด-19 และโรคอื่น ๆ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์” นายกสมาคมฯ กล่าว