น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. เตรียมประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของปี 2564 ใหม่ เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดลง แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์และรอดูมุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อีกครั้ง ซึ่งยอมรับว่ามีความไม่แน่นอนสูงมาก และหากดูนักวิจัยจากสำนักต่าง ๆ เห็นเป็นเสียเดียวกันว่าปรับประมาณการทิศทางลงทุกแห่ง แต่จะเป็นเท่าไร ขึ้นอยู่กับปัจจัยและมุมมองที่แตกต่างกัน โดยสิ่งสำคัญตอนนี้คือ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้กลับมาก่อน
- กรณีที่ 1 หากโควิด-19 ทำให้ต้องมีมาตรการเข้มงวดในบางพื้นที่เหมือนปัจจุบัน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 1-1.5% ของจีดีพี
- กรณีที่ 2 เรียกว่า เจ็บแต่จบ เพิ่มระดับความเข้มงวด เหมือนระบาดรอบแรก จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 2-2.5% ต่อจีดีพี
- กรณีที่ 3 ถ้าไม่สามารถดูแลควบคุมได้ หากการแพร่ระบาดมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องออกมาตรการเข้มงวดกว่าในรอบแรก หนัก และรุนแรง ยืดเยื้อ จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 3-4% ต่อจีดีพี เพราะกระทบต่อการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยและความเชื่อมั่นด้วย
“ปัจจัยทั้ง 3 กรณียังเป็นแค่ผลกระทบ ยังไม่นับรวมสิ่งที่สนับสนุนหลังจากนี้ ซึ่งยังไม่ใช่ผลกระทบต่อจีดีพีที่แท้จริง ยังเป็นการประเมินผล เพราะยังมีปัจจัยสนับสนุนการบริโภคเอกชนและการลงทุนอยู่ รวมทั้งปัจจัยที่จะส่งผลดีเพิ่มเติม จาก มาตรการรัฐ การกระจายวัคซีนและแผนเปิดนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่หากเกิดระบาดใหม่ครึ่งปีหลังปี 64 อาจทำให้การประเมินเปลี่ยนแปลงได้ ต้องติดตามต่อไป”
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ธปท. ได้ต่อสายคุยกับผู้ประกอบการทั่วประเทศ พบว่าผลกระทบมีความแตกต่างแต่ละพื้นที่ จากทั้งหมด 28 จังหวัดที่อยู่ในมาตรการควบคุม คิดเป็น 3 ใน 4 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งประเทศ แต่ความเสียหายในจังหวัดอาจไม่ได้ทั้งหมด เป็นแค่บางพื้นที่ เช่น จำกัดเดินทาง หยุดการผลิตโรงงานชั่วคราว ซึ่งตอนนี้ผู้ประกอบการยังไม่เลิกจ้าง แต่ถ้ายืดเยื้อไม่ดีขึ้น 1-2 เดือน ผู้ประกอบการบางรายโดยเฉพาะรายย่อยกระทบสภาพคล่อง และโควิดยืดเยื้ออาจจำเป็นต้องเลิกจ้างในที่สุด
ทั้งนี้ จากที่พื้นที่ที่พบปัญหาโควิด และอยู่มาตรการควบคุมดูแล พบแรงงานมีความเสี่ยง 4.7 ล้านคนที่จะได้รับผลกระทบ เป็นลูกจ้างนอกภาคเกษตรและอาชีพอิสระนอกภาคเกษตร ในกลุ่มนี้มี 1.2 ล้านคน อาจกลายเป็นผู้เสมือนว่างงาน หมายถึงทำงานไม่ถึง 24 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์ เพราะโดนลดเวลาทำงานและมีเสี่ยง ตกงาน 1 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกจ้างในแรงแรม
ขณะเดียวกัน ยังเป็นห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงในปัจจุบัน จะเป็นปัจจัยถ่วงรั้งบริโภค เพราะครัวเรือนมีภาระเพิ่มขึ้น จากหนี้ที่ก่อไว้สูง หากกลุ่มนี้กลับมาต้องจ่ายหนี้ อาจทำให้ฉุดรั้งการฟื้นตัวได้ และจากข้อมูลพบครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น เพราะบางส่วนเอาเงินออมมาใช้ และพบครัวเรือนไม่น้อยต้องการหารายได้เพิ่ม ทำให้ ธปท.จึงมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ สิ่งสำคัญต้องเจรจากับสถาบันการเงินช่วยเหลือ เช่น ขยายเวลา ลดดอกเบี้ย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยเป็นเรื่องที่ธปท.ต้องติดตามต่อไปว่า เมื่อหนี้มา มาตรการมี ดูว่าจะชดเชยไปได้หรือไม่
“ความสามารถชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อย มีความแตกต่างของกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพอิสระ เพราะรายได้ไม่สม่ำเสมอ และยากที่จะประเมิน คนที่รู้ดีสุด คือ เจ้าหนี้ ว่าลูกหนี้เป็นอย่างไร แต่ธปท.จะเข้าไปดูปัญหา ว่าลูกหนี้รายย่อยเจอปัญหาอะไร เช่น ดอกเบี้ยสูง คิดตัดต้นตัดดอกเบี้ยอาจให้ภาระหนี้สูง จึงเร่งเจ้าหนี้ช่วยลูกหนี้เร็วที่สุด”