ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนเมืองทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ย่อมมี “หนี้” กันทั้งนั้น แม้แต่คนรวยก็ยังมีหนี้บัตรเครดิตกันทั้งนั้น ไล่เรียงลงมากลุ่มคนชนชั้นกลางซึ่งฐานวงกว้างจะอยู่กลุ่มคนวัยทำงานสร้างครอบครัวรวมถึงคนรุ่นใหม่เริ่มทำงาน
ส่วนใหญ่ก็ใช้ “เงินล่วงหน้า”ผ่านบัตรเครดิตบ้าง สินเชื่อส่วนบุคคลบ้าง ซึ่งที่มีทั้งกู้เงินก้อน บ้ตรกดเงินสด เพื่อใช้จ่ายทันที บางคนมีแค่บัตรเครดิตบัตรสองใบ บางคนมีทั้งบัตรเครดิตและสินเขื่อส่วนบุคคล หนี้ ก็เลยเพิ่มสูง
ไม่ว่าใครก็ตามที่ผ่านการอนุมัติของสถาบันการเงิน ก็แสดงว่าทุกคนจะมีจุดสตาร์ทที่เหมือนกัน นั่นคือ คุณมี “เครดิตดี” เท่าเทียมกันหมด แต่หลังจากที่มี “วงเงินกู้” ให้แล้ว หากมีการกู้ยืมเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จะต้องมีภาระในการชำระหนี้ให้ตรงเวลาและเต็มจำนวนกู้ยืมด้วย เพื่อไม่ให้เกิดถูกเรียกดอกเบี้ยกู้เพิ่มขึ้น นี่คือความยากของการรักษาเครดิตดีให้เหนียวแน่น
แต่ตราบใดที่คุณเกิดปัญหาไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามเวลากำหนด จะนำไปสู่ปัญหา “หนี้พอกพูน”ขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากมีเงินต้น แล้วยังมีส่วนเรียกเก็บเพิ่มเป็นหางว่าว หลักๆ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายอัตราปกติแล้ว ยังรวมถึงดอกเบี้ยผิดนัดชำระอีกด้วย ตามด้วยค่าธรรมเนียมต่างๆ ค่าทวงหนี้เป็นรายครั้ง เป็นต้น และที่สำคัญ เป็นลูกหนี้ที่เสียประวัติทางการเงิน ที่เรียกกันว่า “Blacklist” เท่ากับว่า คุณเสียเครดิตแล้ว
เพราะเมื่อคุณติดแบล็คลิสต์ไม่ว่าเป็นธนาคารพาณิชย์หรือนอนแบงก์ ก็เท่ากับปิดประตูตายสำหรับโอกาสที่จะกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือทำธุรกิจ ซึ่งชีวิตก็จะอยู่ยากขึ้น เพราะกู้เงินในระบบไม่ได้แล้ว จะ ต้องหันไปหาเงินกู้นอกระบบ ที่ดอกเบี้ยสูง “โหด”กว่ากู้ในระบบ และชีวิตในอนาคตก็จะจมลงไปในวังวนหนี้ต่างๆ
และทุกวันนี้ สถานการณ์หนี้ของคนไทยมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น เพราะสร้างหนี้โดยไม่มีการจัดอันดับความจำเป็นที่ต้องมี สิ่งนั้นๆ การที่รายได้มีน้อยกว่าหนี้มี่สร้างขึ้นมาขาดวินัยในการจ่ายหนี้
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เปิดผลสำรวจครัวเรือนในกรุงเทพและปริมณฑล เมื่อเดือน ส.ค. 2562 ว่า ครัวเรือนที่สำรวจมีภาระ หนี้ เพิ่มขึ้น สาเหตุหลักๆมาจาก 1. การใช้จ่ายซื้อสินค้า-บริการ ผ่านบัตรเครดิต เพิ่มมากขึ้น 2.มีการผัดผ่อนการชำระหนี้เดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ถูกดอกเบี้ยเรียกเก็บเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และ 3 มีการขอสินเชื่อใหม่กู้เพิ่มเพื่อซื้อบ้าน -รถ -ลงทุน
แม้แต่สภาพัฒน์และแบงก์ชาติ ก็มีความเป็นห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และปัจจุบันหนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคล โตแรงแซงโค้ง บัตรเครดิตแล้ว ซึ่งหนี้ทั้งสองตัวนี้ไม่มีหลักประกัน และมีโอกาสจะเกิดปัญหาหนี้เสียเพิ่มมากขึ้นอีกด้วยในระยะข้างหน้านี้
สถานการณ์ประเทศไทย ปัจจุบันมีอัตราการเติบโตของ หนี้ ครัวเรือน ราว 6.3% ซึ่งโตเร็วกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจที่อยู่เพียง 2.8%ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา
โดยไตรมาสแรก ที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนแตะ 13 ล้านล้านบาทแล้ว ซึ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส นับจากไตรมาสแรกปี 2560 และไทยติดอันดับ 2 ในกลุ่มเอเซียที่มีหนี้ครัวเรือนสูงสุด รองจากเกาหลีใต้ และติดอันดับ 11 ของโลก
ส่วนไตรมาส 2/2562 ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นถึง 11.5% ทำให้มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 9.9 แสนล้านบาท และสินเชื่อบัตรเครดิต เพิ่มขึ้น 9.7% ส่งผลให้มียอดสินเชื่อคงค้าง 2.33 แสนล้านบาท (กราฟ ธปท. 1 และตาราง อัตราการขยายตัวสินเชื่อคงค้างเพื่อการอุปโภคฯ)
ขณะที่แนวโน้มหนี้เสีย หรือหนี้ด้อยคุณภาพ(NPL) ของสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต พบว่าสินเชื่อส่วนบุคคลมียอดผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป 1.88 หมื่นล้านบาท ส่วนบัตรเครดิตก็ราว 7.33 พันล้านบาท และหากดูหนี้ที่ผิดนัดชำระไม่เกิน 3 เดือน หรือหนี้กลุ่มถูกจับตาพิเศษ (พร้อมตกชั้นเป็นหนี้ด้วยคุณภาพ) ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นกัน
แนวโน้มต่อจากนี้ ยังคงเห็นตัวเลขหนี้เสียเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะสัญญาณทางเศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอตัวอยู่ตลอดปีนี้ และยิ่งปัญหาส่งออกไทยมีปัญหาติดลบ ย่อมจะกระทบต่อภาคการผลิตหรือภาคธุรกิจต้องลดกำลังการผลิตลง ตามมาด้วยลดการจ้างคนงาน ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะมีฐานคนงานจำนวนมาก กังนั้นแนวโน้มรายได้ของครัวเรือนจะลดลง
การเติบโตของหนี้ที่เกิดขึ้น ท่ามกลางการควบคุมการก่อหนี้ของ ธปท. เมื่อ 2 ปีก่อน ธปท.ได้มีการออกเกณฑ์เข้มทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (เงินก้อนและบัตรกดเงินสด) โดยมีการจำกัดทั้งวงเงินอนุมัติรวมและจำนวนบัตร
แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บรรดาแบงก์และนอนแบงก์ ยังสามารถเติบโตจากสินเขื่อ 2 ตัวนี้ได้ดีทั้งยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร และยอดการกู้เงินสด ท่ามกลางการแข่งขันที่ร้อนแรงด้วยแคมเปญต่างๆเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย บวกกับพฤติกรรมการบริโภคหันมาช้อปปิ้งออนไลนน์ จึงทำให้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร สามารถขยายตัวได้ดีในปัจจุบัน

รายงานจากข้อมูลการเติบโตของบัตรเครดิตของแบงก์และนอนแบงก์
ธนาคารไทยพาณิชย์ ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา (2560-ปัจจุบัน) มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เติบโต 20% ขึ้นไป โดยหมวดที่มีมูลค่าการใช้จ่ายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1 หมวดประกันภัย 2 หมวดโรงพยาบาลและ Personal Care และ3 หมวดปั๊มน้ำมัน
สำหรับจำนวนรายการที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด คือ 1 หมวดปั๊มน้ำมัน 2 หมวดซูเปอร์มาร์เก็ต และดิสเคาท์ สโตรและ 3 หมวดร้านอาหาร จะเห็นว่า การใช้จ่ายผ่านบัตรฯจะล้อไปกับการใช้จ่ายชีวิตประจำวัน
ด้านการเพิ่มของลูกค้าบัตรใหม่ของธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ที่ 14% ต่อปี โดยคาดว่าปลายปีนี้จะมีจำนวนบัตรรวม 2.7 ล้านใบ
ฟากธนาคารกสิกรไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะมีการเติบโตของยอดใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 5-10% และปี 2562 นี้คาดเเพิ่มขึ้น 10% โดยหมวดที่มีการรูดใช้จ่ายมากสุด 3อันดับ ได้แก่ เ น้ำมัน 2 หมวดช้อปปิ้ง และอันดับ 3 หมวดสุขภาพและบิ้วตี้
ขณะที่การเติบโตของจำนวนบัตรใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% โดยเติบโตสูงกว่าตลาด และในปีนี้ ธนาคารกสิกรไทย คาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ 5% โดยมีจำนวนบัตรใหม่ประมาณ 500,000 บัตร
นอนแบงก์ค่ายใหญ่ “กรุงศรี คอนซูเมอร์” โดยข้อมูลในช่วงครึ่งปีแรกยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เพิ่มขึ้น +12% และยอดสินเชื่อใหม่ +11%
สำหรับลูกค้าใหม่ของกรุงศรี คอนซูเมอร์ มีลูกค้าใหม่รวม 2 สินเชื่อ ประมาณ 479,000 บัญชี โดยแยกเป็นบัญชีบัตรเครดิตใหม่มีจำนวน 274,000 บัญชี เพิ่มขึ้นถึง 34% ส่วนบัญชีสินเชื่อใหม่ 205,000 บัญชี เพิ่มขึ้น 32%
ด้านเคทีซี หรือ บมจ. บัตรกรุงไทย ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มียอดรูดใช้จ่ายแล้ว 1 แสนล้านบาท และช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะไปได้ดีกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งจะทำให้ปีนี้ทั้งปียอดรูดใช่จ่ายไปตามเป้าหมาย 2.2 แสนล้านบาท เติบโต 10% โดยส่วนใหญ่ใช้รูดในหมวดประกัน ตามด้วยน้ำมัน และหมวดท่องเที่ยว
ส่วนทำบัตรใหม่ ของ KTC เพิ่มมากกว่า 1 แสนบัตรแล้ว และปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มได้ถึง 3แสนบัตร ในปีนี้
ความเคลื่อนไหวทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคุลไม่ว่าแบงก์หรือนอนแบงก์ ยังคงขยายตัวทั้งยอดการใช้จ่ายและลูกค้าใหม่ ที่ยังเข้ามาใช้เครื่องมือทางการเงิน เอื้ออำนวยสภาพคล่องในชีวิตประจำวัน
เรื่องการ “มีหนี้”สามารถทำได้แต่ต้องมีวินัยการชำระหนี้ด้วย และมีความรู้พื้นฐานของหนี้แต่ละตัวด้วยดังนี้
-ลูกหนี้บัตรเครดิต ควรคิดก่อนรูดบัตร ว่าสิ่งนั้นจำเป็นต้องมีหรือไม่ และจะมีเงินเพียงพอจ่ายหรือไม่ ซึ่งหากสามารถจ่ายครบตรงเวลากำหนด ดอกเบี้ยจบที่ 0% คุณเป็น “ลูกหนี้ชั้นดี”แต่เดือนใดที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้เต็มก้อน ผลที่จะเกิดขึ้น คือ การคิดดอกเบี้ยกู้นับตั้งแต่วันที่รูดบัตรเครดิตทันที และการปรับดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้พุ่งขึ้นมาสูงสุด 18% ถึงแม้จะจ่ายขั้นต่ำ 10%ก็ตาม
และยังมีค่าทวงถามหนี้อีกด้วย หากจ่ายขั้นต่ำเพียง 5%ของยอดหนี้ที่เรียกเก็บ และหากผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่อง จนหนี้พอกพูน เกินกว่าจะจ่ายไหว คุณอาจจะเสียประวัติทางการเงินหรือติด “แบล็คลิสต์”นั่นเอง
-สินเขื่อส่วนบุคคล มี 3 ประเภท คือ กู้เงินก้อน การขอวงเงิน และบัตรกดเงินสด ซึ่งแต่ละประเภทคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากันขึ้นกับแต่ละสถาบันการเงินด้วย ดังนั้นควรเปรียบเทียบดอกเบี้ยให้ดีก่อนคิดกู้ และหากจ่ายหนี้ช้านิดเดียว ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นทันที ซึ่งเพดานดอกเบี้ยสูงสุด 28% และด้านค่าธรรมเนียมต่างๆ ตั้งแต่การถอนเงินสด การปิดหนี้ก่อนครบกำหนด เป็นต้น

สำหรับคนที่มีปัญหาหนี้หลายก้อนและมีรายได้รับน้อย ควรวางแผน “จัดการหนี้”ในแต่ละเดิอนเพื่อให้ชีวิตทางการเงินไม่สะดุด ดังต่อไปนี้
1.จำเป็นต้องรวบรวมภาระหนี้ที่มีในแต่ละเดือน ดังนั้น ทำการจดข้อมูลหนี้ของบัตรเครดิตแต่ละใบ และบัตรกดเงินสด หรือเงินก้อน สินเขื่อต่างๆ หากมีหนี้เหล่านี้อยู่ด้วย ซึ่งเมื่อรวมจำนวนหนี้ทั้งหมด เทียบกับรายได้รับของเดือนที่ต้องจ่าย
2.กรณีคุณสามารถจ่ายหนี้ทุกก้อนเต็มจำนวน ก็ควรจะต้องจ่ายให้ตรงเวลาด้วย เพราะหากจ่ายช้าหรือเกินกำหนด จะเกิดดอกเบี้ยเรียกเก็บย้อนหลังสำหรับบัตรเครดิต และดอกเบี้ยปรับเพิ่มสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ดังนั้น ไม่ควรเสียเงินส่วนนี้ เพราะความประมาทเลิ่นเล่อ
3 กรณีคุณมีเงินในเดือนนั้นๆไม่เพียงพอจ่ายหนี้ต่างๆที่เรียกเก็บ ถึงเวลาที่คุณต้องมาจัดสรรเงินแล้ว โดยจะต้องประเมินว่าจะแบ่งเงินก้อนใหญ่สำหรับเคลียร์หนี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะต้องเน้นการเลือกจ่ายหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงก่อน และไล่เรียงหนี้ที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าลงมา
นอกจากนี้ต้องชั่งน้ำหนักว่า จ่ายหนี้ก้อนไหนให้ได้เต็มจำนวนบ้าง เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกคิดดอกเบี้ยปรับ ทุกก้อนหนี้ ส่วนเงินมี่เหลือจากเคลียร์หนี้ ก็ใช้ดำรงชีวิตประจำวันให้ชนสิ้นเดือน ซึ่งเดือนนั้นจะต้องยอมรับสภาพการกินอยู่ใช้ชีวิตอย่างประหยัด หลังจากก่อหนี้เกินตัว
4 กรณีจุดวิกฤตเงินไม่เพียงพอชำระหนี้ในเดือนนั้นจริงๆ คุณจำเป็นต้องมองหาทรัพย์สินมี่พอขายได้เงินมาชำระหนี้ หรือต้องดูว่าพอมีเงินเก็บส่วนใดบ้างที่ดึงออกมาก่อนได้บ้าง เพราะหากไม่ชำระหนี้ขั้นต่ำ ผลที่ตามมาจะหนักกว่าเดิม เพราะนอกจากดอกเบี้ยจะถูกเรียกเพิ่มหลายเด้งแล้ว ยังมีค่าธรรมเนียมต่างๆที่เกี่ยวกับทวงถามหนี้ เพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วด้วย ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาหนี้พอกพูนและแก้ไขยากขึ้นไปอีก และสุดท้ายจะกลายเป็นผู้เสียเครดิตทางการเงินด้วย
5 ทางออกสุดท้าย ควรขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ก่อน ซึ่งจะมีทั้งการลดวงเงินผ่อนชำระน้อยลง เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการจ่ายหนี้ด้วย การยืดระยะเวลาชำระหนี้ยาวขึ้น และสิ่งสำคัญต้องคำนึงเรื่องของ “ดอกเบี้ย “ เพิ่มขึ้นมากเพียงใด
หรือจะเลือกวิธี “รีไฟแนนซ์” ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทใหม่ๆทำธุรกิจ รับ”ปิดหนี้ของรายย่อย” นั้นๆ โดยเสนอดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเปิดให้บริการหลายราย รวมถึงของทางรัฐด้วย มี่จัดตั้งคลินิกแก้หนี้ ดังนั้น จึงควรทำการเปรียบเทียบภาระ”ดอกเบี้ยที่จะถูกบวกใส่เงินต้น” และเงื่อนไขต่าง ๆ ก่อนว่า อยู่กับเจ้าหนี้เดิม ดีกว่าย้ายไปหาเจ้าหนี้ใหม่หรือไม่ คุณได้สิทธิประโยชน์คุ้มค่ากว่าหรือไม่
ทั้งนี้ คลินิกแก้หนี้ จะมีตัวกลาง “บริษัทบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท” (SAM) เข้ามาประสานระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้เดิม สำหรับ คุณสมบัติของลูกหนี้ที่เข้าโครงการนี้ กำหนดให้สามารถรวมหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ของเจ้าหนี้ 2 แห่งขึ้นไป มาขอทำการปรับโครงสร้างหนี้
จะมีทางออกทั้งการยืดระยะเวลาการผ่อนชำระได้นาน 10 ปี การปรับค่าผ่อนชำระหนี้รายงวดให้เหมาะสม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่ำลงกว่าดอกเบี้ยเรียกปรับ ซึ่งคลินิกแก้หนี้ ถือเป็นทางออกที่ช่วยคุณได้ชีวิตใหม่กลับมาสดใสอีกครั้ง
โดยที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของคลินิกแก้หนี้ ณ วันที่ 26 ส.ค. 62 ที่ผ่านมา มีลูกหนี้เข้ามาปรับปรุงโครงสร้างหนี้สะสมตั้งแต่เปิดโครงการเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 60 จำนวนรวม 2,160 ราย ซึ่งเป็นลูกหนี้ของ ธนาคารพาณิชย์จำนวน 1,602 ราย และเป็นลูกหนี้ของธนาคารและ Non-bank จำนวน 398 ราย และลูกหนี้เฉพาะ Non-bank จำนวน 160 ราย
สำหรับลูกหนี้ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 40 ราย โดยเฉลี่ยลูกหนี้มีภาระหนี้เงินต้นเฉลี่ย 280,000 บาท มีเจ้าหนี้เฉลี่ย 3 ราย ผ่อนชำระเฉลี่ยเดือนละ 4,000 บาท และมีระยะเวลาการชำระเฉลี่ย 7 ปี
ในวิกฤติย่อมมีโอกาสอยู่ที่คุณจะคว้าไว้ได้อย่างไร
ถึงเวลาของคนมีหนี้ท่วมตัว ชีวิตมีทางเลือกปลดหนี้ และไม่ติดแบล็คลีสต์ ซึ่งจะทำให้ช่วงที่เหลือของคุณ มี “สุขภาพทางการเงิน” ที่แข็งแรงดีขึ้นกว่าเดิม
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : แบงก์ชาติยังไม่ใช้มาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด หรือ DSR limit ในปีนี้