นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 11 พ.ค.65 ที่ระดับ 34.63 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.55 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ ตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไป (CPI Inflation) ของสหรัฐฯ ในวันนี้ เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ขณะเดียวกัน ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก จากทั้งปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีน และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวม โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 101.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานที่อาจลดลงในระยะสั้น
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะจับตา คือ รายงานข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน ซึ่งตลาดคาดว่าจะเริ่มชะลอลงสู่ระดับ 8.1% จากระดับราคาสินค้าในกลุ่ม Reopening อาทิ สินค้าคงทน (เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์) ที่เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงมากขึ้น หลังราคาได้พุ่งขึ้นแรงในช่วงต้นของการเปิดเมือง ทว่าค่าใช้จ่ายในส่วนการบริการต่างๆ ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังความต้องการบริโภคของผู้คนได้เปลี่ยนจากสินค้าสู่การบริการมากขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงต่อ
หากเงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวขึ้นเกินคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด จะช่วยลดโอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรุนแรงถึง +0.75% ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟดว่าจะมีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจหลังการทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างไร โอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงมีมากน้อยขนาดไหน รวมถึงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal Rate) ในรอบนี้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทยังมีโอกาสที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังไม่ได้ไหลออกรุนแรง ทำให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก และอาจอ่อนค่าไปทดสอบแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ ทว่า จุดกลับตัวของเงินบาทในระยะสั้นอาจเกิดขึ้นได้ในคืนนี้ หลังตลาดรับรู้รายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนเมษายน หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอตัวลง และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เงินดอลลาร์ก็อาจอ่อนค่าลง พร้อมจังหวะการเริ่มเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ซึ่งจะพอช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
“ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง คงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน”