HomeMoney2knowกรุงไทย ดึง KTC ถือหุ้น เคทีบีลีสซิ่ง 75.05% ปรับแผนธุรกิจลุยสินเชื่อรถยนต์

กรุงไทย ดึง KTC ถือหุ้น เคทีบีลีสซิ่ง 75.05% ปรับแผนธุรกิจลุยสินเชื่อรถยนต์

หลังจากเป็นคำถามมาตลอด 2-3 ปีว่าธนาคารกรุงไทยจะทำอย่างไรกับตัวบริษัท กรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง จำกัด (เคทีบีลีสซิ่ง) ซึ่งที่ผ่านมามีนโยบายชัดเจนที่ต้องการนำมาปัดฝุ่น ลุยธุรกิจเช่าซื้อ ลีสซิ่งกันอีกสักครั้ง หลังจากที่ต้องพับแผนหยุดเดินหน้าทำธุรกิจไปชั่วคราว เนื่องจากไม่ใช่ความถนัดของธนาคารกรุงไทย สุดท้ายจึงตัดสินใจดึง KTC เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 75.05% และธนาคารกรุงไทยลดการถือหุ้นเหลือเพียง 24.95%

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2564 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารมียุทธศาสตร์ในการปรับพอร์ต เคทีบีลีสซิ่ง บูรณาการกระบวนการติดตามหนี้ และปรับแผนธุรกิจใหม่หมด ขณะนี้ธนาคารพร้อมที่จะผนึกกำลังนำจุดแข็งของกลุ่มธุรกิจ มาส่งเสริมกันและกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และประสานประโยชน์ทางธุรกิจอย่างรอบด้าน โดยปรับเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นในเคทีบีลีสซิ่ง ให้บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ เคทีซี เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 75.05% และธนาคารกรุงไทยลดการถือหุ้นเหลือเพียง 24.95%

ทั้งนี้ คณะกรรมการธนาคารได้อนุมัติในเรื่องดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ KTC โดยเชื่อว่า ความโดดเด่นและความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยของเคทีซีทั้งสินเชื่อบุคคล สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ KTC พี่เบิ้ม สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ จะช่วยเพิ่มสัดส่วนธุรกิจลีสซิ่งของเคทีบีลีสซิ่ง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ใหม่ รถมือ 2 และรถแลกเงิน ซึ่งมีตลาดใหญ่ และมีศักยภาพในการเติบโต โดยลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ผ่านทีมการตลาดของทั้งบริษัท ตลอดจนเครือข่ายสาขาของธนาคารกรุงไทยที่ครอบคลุมกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ธนาคารกรุงไทยต่อยอดธุรกิจ และเพิ่มความสามารถในการทำรายได้

- Advertisement -

“ที่ผ่านมา เคทีบีลีสซิ่ง เน้นธุรกิจด้านเช่าซื้อเครื่องจักร ดังนั้นการดึง KTC มาถือหุ้นในครั้งนี้ จะได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ช่วยเพิ่มความคึกคักให้กับตลาด ลีสซิ่ง รวมทั้งเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า ที่สำคัญจะเป็นการขยายฐานลูกค้า และเพิ่มผลตอบแทนให้กับธนาคาร ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารกรุงไทยถือหุ้นใน KTC 49.3%”

นายระเฑียร  ศรีมงคล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติให้ เคทีซี เข้าลงทุนใน เคทีบี ลีสซิ่ง ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในเครือธนาคารกรุงไทย ด้วยการซื้อหุ้นสามัญจำนวน 75,050,000 หุ้น คิดเป็น 75.05% มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ในราคาหุ้นละ 7.92 บาท คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 594.396 ล้านบาท ซึ่งมีเงื่อนไขการปรับปรุงราคาซื้อขายหุ้นในภายหลังให้เป็นไปตามมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน

อ่าน : แบงก์ชาติจัด มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล ช่วงวาเลนไทน์

ในขณะที่ธนาคารกรุงไทยยังคงถือหุ้นในสัดส่วน 24.95% โดยจะนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเม.ย. 2564 เพื่อขออนุมัติเข้าทำรายการดังกล่าว โดยจะต้องได้รับมติอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน โดยไม่นับคะแนนเสียงในส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสีย และ ธนาคารกรุงไทยจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป

“เหตุผลในการเข้าซื้อเคทีบี ลีสซิ่งในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต มีสาขาบริการตั้งอยู่ในหัวเมืองหลักของทุกภูมิภาคในไทย และสามารถทำธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งทุกประเภท ซึ่งจะช่วยเติมเต็มสร้างโอกาสให้เคทีซี สามารถแตกไลน์ธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันได้กว้างขวาง ครอบคลุมและครบวงจรมากขึ้น ต่อยอดจากสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เคทีซี พี่เบิ้ม เพื่อให้ทำธุรกรรมได้ครบวงจร ซึ่งเคทีซีได้เริ่มเบนเข็มทำธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันเมื่อปลายปี 63 ที่ผ่านมา” 

นายระเฑียร กล่าวว่า จุดแข็งของเคทีซี คือ การบริหารจัดการต้นทุน การบริหารคุณภาพพอร์ตลูกหนี้และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบปฏิบัติการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงศักยภาพของทีมบริหาร บุคลากร และผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ จะเอื้อประโยชน์ให้เราสามารถพัฒนาองค์ความรู้ของทั้งสององค์กรเข้าด้วยกัน เพื่อให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตแข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มภายหลังจากการเข้าถือหุ้น

 

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News