HomeMoney2knowMoneyเปรียบเทียบค่าธรรมเนียม 'คริปโตเคอเรนซี่' สินทรัพย์การลงทุนสุดร้อนแรง

เปรียบเทียบค่าธรรมเนียม ‘คริปโตเคอเรนซี่’ สินทรัพย์การลงทุนสุดร้อนแรง

ดูเหมือนว่ากระแสลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี่) จะกลับมาอีกครั้ง เห็นได้จากมีผู้เริ่มค้นหาและสมัครกระดานซื้อขาย หรือเทรดคริปโตกันจำนวนมาก จนบางค่ายของไทย แพลตฟอร์มล่มกันเลยทีเดียว

สาเหตุคงจะนี้ไม่พ้น ช่วงปลายเดือนธ.ค.2563 ราคาบิทคอยน์ ซึ่งเป็น สินทรัพย์ดิจิทัล ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และนิยมเทรดกันมากที่สุด ทำสถิติใหม่ (นิวไฮ) พุ่งสูงทะลุเพดาน ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังทำสถิติครั้งใหม่อย่างต่อเนื่อง ราคาต่อ 1 เหรียญบิทคอยน์ยืนเหนือ 1 ล้านบาทมาอยู่หลายวันแล้ว

ผู้บริหารหนุ่มสุดฮอตในเวลานี้ “จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BitKub) ผู้ให้บริการตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ได้บอกปัจจัยที่ทำให้บิทคอยน์พุ่งแรงขนาดนี้ไว้ว่า มาจาก 1.การลดลงครึ่งหนึ่งของจำนวนบิทคอยน์ที่ออกใหม่ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นทุก ๆ 4 ปี ครั้งแรกในปี 2555 ถัดมาปี 2559 และครั้งล่าสุดในปี 2563

  1. PayPal ผู้ให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ประกาศรับชำระเงินด้วยบิทคอยน์ ส่งผลให้ฐานลูกค้าของ PayPal ประมาณ 300 ล้านคน รวมถึงร้านค้ากว่า 26 ล้านร้านค้า สามารถซื้อขายสินค้าด้วยบิทคอยน์ได้ ทำให้มีผู้ใช้บิทคอยน์หน้าใหม่มากที่สุดในรอบ 10 ปี
- Advertisement -

3.แหล่งเงินทุนสถาบันให้การยอมรับบิทคอยน์มากขึ้น และ 4.กฎหมายรองรับบิทคอยน์มีความชัดเจนมากขึ้น โดย ธนาคารดีบีเอส ประเทศสิงคโปร์ เสนอบริการจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ลูกค้า ซึ่งรวมไปถึงการจัดเก็บบิทคอยน์

แถมยังย้ำเตือนนักลงทุน “อะไรที่ขึ้นแรงก็คงต้องลงแรงเหมือนกัน เช่นเดียวกับบิทคอยน์ที่เป็นสินทรัพย์ประเมินราคาในอนาคตไม่ได้ ดังนั้นนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน และเงินลงทุนนั้น ควรเป็นเงินที่สามารถรับความเสี่ยงได้ด้วย”

อ่าน : เปิดโลกเงินกู้สกุลคริปโต ผ่านระบบการเงินไร้ตัวกลาง เฟื่องฟูยุคโควิด-19

สำหรับประเทศไทย แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะไม่ได้ให้การรองรับว่า คริปโตฯสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย หรือไม่ได้ระบุว่า เป็นสกุลเงินดิจิทัล แต่ถูกตีความเป็น สินทรัพย์ดิจิทัล นั่นหมายถึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง

ทำให้เวลานี้มีผู้ประกอบธุรกิจที่ผ่านอนุมัติจาก ก.ล.ต. ได้ใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และเปิดให้บริการแล้ว 4 แห่ง ได้แก่

  1. บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อ Bitkub
  2. บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ภายใต้ชื่อ Satang Pro
  3. บริษัท หั่วปี้ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Huobi
  4. บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex)

โดยยังมีผู้ประกอบธุรกิจได้ใบอนุญาตฯ แต่ยังไม่เปิดให้บริการอีก 2 แห่ง คือ บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Upbit และ บริษัท จีเอ็มโอ-แซด.คอม คริปโทนอมิคซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Z.comEX

มาดูกันว่าความแตกต่างของผู้ให้บริการแต่ละแห่ง และอัตราค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย หรือการถอนเงินสดเข้าบัญชีธนาคารอยู่ที่เท่าไรกันบ้าง?

เริ่มที่แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตฯอันดับหนึ่งของไทยอย่าง บิทคับ (Bitkub) ได้คิดค่าธรรมเนียมในการซื้อขายคริปโตฯสกุลเงินต่าง ๆที่ 0.25% ต่อครั้ง และมีค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดอยู่ที่ 20-200 บาทต่อครั้งขึ้นอยู่กับวงเงิน

อีกหนึ่งแพลตฟอร์มคือ สตางค์โปร (Satang Pro) มีค่าธรรมเนียมการซื้อขาย 0.25% ต่อครั้งเช่นเดียวกัน แต่จะไม่คิดค่าธรรมเนียมในการถอนเงินสด เพียงแต่กำหนดขั้นต่ำไว้ว่าโอนเข้าบัญชีธนาคารได้ต้อง 1,000 บาทขึ้นไป

หั่วปี้ ประเทศไทย (Huobi) มีการคิดค่าธรรมเนียมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 0.25% ต่อครั้งเหมือนกับเจ้าอื่น ๆ และคิดค่าธรรมเนียมการถอนเงิน 15 บาทต่อครั้ง

มาถึง ซิปเม็กซ์ (Zipmex) เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปี 2563 และกำลังได้รับความสนใจแก่นักลงทุนอย่างมาก เพราะการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตฯในแต่ละครั้ง จะไม่คิดค่าธรรมเนียมใด ๆ หรือเรียกง่ายๆว่า ฟรี! แต่หากขายไปแล้ว..อยากจะถอนเงิน โอนเข้าบัญชีธนาคารแล้วล่ะก็..ซิปเม็กซ์ คิดค่าธรรมเนียมต่อครั้งเพียง 20 บาทเท่านั้น

ไม่เพียงแต่บริษัทสตาร์ทอัพเท่านั้น ที่เข้ามาลงเล่นและแข่งขันกันในตลาดคริปโตฯ แต่สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ชั้นนำของไทย อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้ประกาศกันชัด ๆ เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2564 ที่ผ่านมาว่า ได้ส่งบริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด(SCB 10X) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร ลุยตลาดคริปโตฯเป็นที่เรียบร้อย

โดยได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้ชื่อบริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X Co., Ltd.) มีทุนจดทะเบียนจำนวน 50 ล้านบาท และมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประกอบธุรกิจผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) โดย SCB10X ถือหุ้น 100% ใน Token X

ทำให้มองได้ว่าสงครามสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอเรนซี่ ในประเทศไทยกำลังจะดุเดือดขึ้นในอีกไม่ช้า และกำลังเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นในวงกว้าง เห็นได้จากเริ่มมีบริษัทน้อยใหญ่ต่างสนใจลงทุนกับธุรกิจคริปโตฯกันมากขึ้น และมีนักลงทุนจำนวนมากหันมาเสี่ยงกับสินทรัพย์ประเภทนี้ แม้คาดเดาทิศทางได้ยากก็ตาม ฉะนั้นพึงระลึกไว้เสมอว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุนไว้ให้ดี!

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News