หากเราต้องการใช้บริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นฝากถอนเงิน กู้เงิน หรือซื้อผลิตภัณฑ์การลงทุน จะต้องใช้บริการที่ธนาคาร แต่ในยุคที่เทคโนโลยีกำลัง Disrupt ธุรกิจดั้งเดิม อนาคตเราอาจจะได้ทำธุรกรรมทางการเงินกับบริษัทที่ไม่ใช่ “ธนาคาร” อีกต่อไป
กล่าวได้ว่าธนาคารในปัจจุบันไม่ได้แข่งขันกันเองอีกต่อไป แต่กำลังแข่งกับบริษัททางด้านเทคโนโลยีที่หันมาสร้างแพลตฟอร์มทางการเงินของตัวเองขึ้นมาหรือที่เรียกว่าเทคฟิน (Tech Fin)
หากเป็นสถาบันการเงินด้วยกัน อาจจะรู้ทางกันเป็นอย่างดี และโปรดักต์ก็ไม่ได้แตกต่างกัน แต่ถ้าต้องลงไปแข่งในสนามที่มีผู้เล่นที่ไม่รู้จักแต่มีฐานลูกค้าในระดับเดียวกันหรืออาจมากกว่า “ธนาคาร” ก็อาจจะเพรี้ยงพล้ำไปได้เช่นกัน
ผู้เล่นที่สะเทือนวงการมากที่สุดคือ Facebook ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียที่มีฐานผู้ใช้งาน 2,200 ล้านคนทั่วโลกได้ประกาศสร้างสกุลเงินของตัวเองในชื่อ Libra ร่วมกับพันธมิตร อีก 27 รายซึ่งทั้งหมดเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีขนาดธุรกิจเกินพันล้านเหรียญทั้งสิ้น การมาของ Libra ทำให้ภาคการเงินทั่วโลกตื่นตัวด้วยจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกของ Facebook ที่น่าจะมีจำนวนหนึ่งพร้อมใช้ Libra ในการจับจ่ายแน่นอน
อย่างไรก็ตาม Facebook ได้รับแรงกดดันจากหลายทิศทาง โดยเฉพาะหน่วยงานกำกับดูแล ประกอบกับข่าวด้านลบในเชิงความเป็นส่วนตัว ทำให้ Libra ถูกท้าทายอย่างยิ่งว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
หากเกิดขึ้นจริง Social Media อื่นๆที่มีฐานผู้ใช้งานระดับพันล้านรายขึ้นไปก็มีโอกาสที่จะสร้างเงินดิจิทัลของตัวเองเช่นกัน

นอกจากสื่อสังคมออนไลน์ ยักษ์ใหญ่ด้านฮาร์ดแวร์อย่าง Apple ก็รุกเข้ามาในธุรกิจการเงินด้วยเช่นกันด้วยการเปิดตัวบัตรเครดิต Apple Card ที่ร่วมกับธนาคารยักษ์ใหญ่โกลด์แมนแซค
หากเจาะลึกลงไปที่รายได้ของ Apple ในไตรมาสสองปี 2019 พบว่าธุรกิจบริการ ซึ่งรวมทั้ง App Store และ Apple Music ยังคงเติบโตสูงต่อเนื่องทำสถิติใหม่โดยมีรายได้อยู่ที่ 11,450 ล้านดอลลาร์ เม็ดเงินจำนวนนี้ไหลเวียนอยู่ใน Ecosystem ของ Apple ซึ่งสูงกว่าสถาบันการเงินทั่วไปเสียด้วยซ้ำ เงินจำนวนนี้พร้อมที่จะถูกต่อยอดไปยัง Ecosystem อื่นๆของ Apple ได้ในอนาคต
สองยักษ์ใหญ่จากจีนทั้ง Wechat และ Alipay ต่างรุกเข้ามายังธุรกิจการเงินอย่างเต็มตัว โดย Wechat มีผู้ใช้งานกว่า 1,132 ล้านคนทั่วโลก และครองอันดับหนึ่งการใช้จ่ายออนไลน์ในประเทศจีน
ส่วน Alipay มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 1,000 ล้านคนในประเทศจีน ภายใต้บริษัทเทคโนโลยีการเงิน Ant Financial ให้บริการทั้งกู้ยืมเงินออนไลน์ ประกันภัยและประกันชีวิต บริการการลงทุน ซึ่งคล้ายกับสถาบันการเงินดั้งเดิมไม่มีผิด
ขณะเดียวกัน Line แชทแอพลิเคชั่นที่นิยมในทวีปเอเชีย ได้มีความพยายามที่จะรุกเข้ามาในธุรกิจการการเงินอย่างจริงจังด้วยการจับมือกับพันธมิตรที่เป็นธนาคารพาณิชย์ในสี่ประเทศ คือ ญี่ปุ่น สร้างความร่วมมือกับธนาคารมิซึโฮ ,ไต้หวัน จับมือกับสี่ธนาคารอย่างสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ยูเนี่ยนแบงก์ออฟไต้หวัน CTBC Bank และ Taipei Fubon Commercial Bank
ขณะที่อินโดนีเซีย ได้เข้าถือหุ้น PT Bank KEB Hana Indonesia สัดส่วน 20% และร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย ในการทำธุรกิจสินเชื่อออนไลน์

บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้รุกเข้ามาในธุรกิจการเงินเนื่องจาก สามารถต่อยอดช่องทางรายได้ใหม่ๆ,ใช้เป็นสื่อกลางภายในระบบนิเวศน์ธุรกิจ (Ecosystem) ของตัวเอง,สามารถเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทั่วถึงรวดเร็ว ที่สำคัญคือมีต้นทุนด้านบุคลากรให้บริการที่ต่ำกว่าสถาบันการเงินดั้งเดิม
จุดแข็งเพียงหนึ่งเดียวที่สถาบันการเงินดั้งเดิมยังได้เปรียบบริษัทเทคโนโลยีนั่นคือ “ความน่าเชื่อ” ที่สร้างมานาน และยากที่พฤติกรรมผู้ใช้บริการจะเปลี่ยนบัญชีธนาคารง่ายๆ
แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนโลกออนไลน์และยังไม่มีบัญชีธนาคารมาก่อน คนกลุ่มนี้พร้อมที่จะเป็นลูกค้าทางการเงินของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้เมื่อไรก็ได้
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง:แบงก์ชาติเผยโมบายแบงก์กิ้งระบบล่มบ่อยครั้ง