‘ไพบูลย์ นลินทรางกูร’ เผยความคืบหน้าหลังเข้าพบรองนายก เสนอแผนใช้ตลาดทุนแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ตั้งกองทุนหุ้นกู้ SME รวมถึงตั้งกองทุนซื้อหนี้จากแบงก์พาณิชย์มาบริหาร
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ภายหลังการเข้าพบ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วันนี้ (9 ต.ค.63) ตลาดทุนได้แสดงให้เห็นถึงความคิดที่อยากจะช่วยภาครัฐช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยเชื่อว่าตลาดทุนจะสามารถจัดโครงสร้างหรือเครื่องมือเพื่อให้การช่วยเหลือได้
โดยสามารถจัดทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การให้ SME ระดมทุนในตลาดทุนผ่านการออกหุ้นกู้ อย่างไรก็ดี การออกหุ้นกู้ของผู้ประกอบการ SME เพียงรายเดียวมีความเสี่ยงสูง และอาจไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน จึงมีเสนอแนวทางการออกหุ้นกู้ร่วมกันหลายๆ รายผ่านกองทุนรวมหุ้นกู้ SME เพื่อระดมทุนจากประชาชนและนักลงทุนสถาบัน ซึ่งจะสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังเป็นห่วงเรื่องความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) ของกลุ่มผู้ประกอบการ SME ดังนั้น คาดว่าจะต้องมีกลไกของภาครัฐเพื่อค้ำประกันเช่นเดียวกับลักษณะที่ภาครัฐทำกับซอฟท์โลน โดยจะต้องพึ่งพาบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาเพื่อช่วยค้ำประกันพอร์ตโฟลิโอของกองทุนหุ้นกู้ SME
“อันนี้ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ตลาดทุนจะสามารถเข้ามาช่วยด้วย แต่ภาครัฐก็จำเป็นต้องเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงลงบ้าง ไม่อย่างนั้นจะระดมทุนได้ลำบาก”
ส่วนอีกวิธีหนึ่งจะเป็นการแปลงสินทรัพย์มาเป็นตราสารทางการเงิน (Securitization) เช่น สินเชื่อของผู้ประกอบการ SME ที่อยู่กับธนาคารพาณิชย์ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะทำในรูปแบบการจัดตั้งกองทุนเพื่อมาระดมทุนซื้อสินทรัพย์ หนี้ หรือสินเชื่อที่ปล่อยให้ผู้ประกอบการออกมาไว้ในกองทุนเพื่อระดมทุนออกมา
“แม้จะยังไม่ตกผลึกดี แต่วิธีการจะทำในรูปแบบการระดมทุนจากนักลงทุนสถาบันหรืออาจจะมาจากประชาชนทั่วไปผ่านกองทุนที่ตั้งขึ้นมา และเอากองทุนนี้มาดูว่าจะสามารถสนับสนุน SME ได้ยังไง แต่ไม่ใช่เป็นการปล่อยกู้ให้ SME แต่จะเป็นจัดการกับสินเชื่อบางส่วนที่อยู่ในระบบตอนนี้ หรือถ้าจะปล่อยกู้ก็จะเป็นการออกตั้ง กองทุนหุ้นกู้ แบบลักษณะแรก แต่ภาครัฐต้องค้ำประกันเพื่อให้กลไกทำงานได้” นายไพบูลย์ กล่าว