ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2564 เป็นต้นไป สถาบันคุ้มครองเงินฝาก(สคฝ.) ได้ประกาศแจ้งผู้ฝากเงินว่า การคุ้มครองเงินฝากจะได้วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท หากกรณีสถาบันการเงินที่ผู้ฝากเงินได้เปิดบัญชีและฝากเงินอยู่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือปิดกิจการ ซึ่งถูกลดวงเงินคุ้มครองจาก 5 ล้านบาท ทำให้เกิดคำถามต่าง ๆ ตามมาค่อนข้างมากว่า แล้วผู้ที่ฝากเงินเกิน 1 ล้านบาทจะทำอย่างไร? จะได้รับเงินคืนหรือไม่?
สำหรับความคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทของ สคฝ. เป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยสคฝ.ได้ให้ข้อมูลว่า ณ วันที่ 31 พ.ค.2564 มีผู้ฝากเงินทั้งสิ้น 83.72 ล้านราย และได้รับความคุ้มครองเงินฝากทั้งหมด 82.07 ล้านราย คิดเป็น 98.03% ของผู้ฝากทั้งระบบเลยทีเดียว และแนวโน้มผู้ฝากเงินได้เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของผู้ที่มีเงินฝากไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับสิ้นปี 2563 จนถึงวันที่ 31 พ.ค.2564 พบว่าผู้มีเงินฝากเพิ่มขึ้น 1.33 ล้านราย ในจำนวนนี้มีมากถึง 97% ที่เป็นเงินฝากไม่ถึง 1 ล้านบาท
มาดูกันว่า..การเพิ่มขึ้นของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศของแต่ละปีเป็นอย่างไรกันบ้าง เมื่อเทียบระหว่างช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2562 กับปัจจุบัน โดยเงินฝากในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 ในไทย จากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 มีเงินฝากทั้งหมด 13.45 ล้านล้านบาท ส่วน ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 ระบาดมีจำนวน 14.92 ล้านล้านบาท และจนมาถึง ณ วันที่ 31 พ.ค.2564 มีทั้งสิ้น 15.27 ล้านล้านบาท ดูตัวเลขเงินฝากแต่ละปีย้อนหลังแล้วยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หากแยกตามวงเงินฝากประเภทออมทรัพย์ ณ วันที่ 31 พ.ค.2564 ดังนี้
-เริ่มตั้งแต่ผู้ฝากเงินไม่เกิน 50,000 บาท มีจำนวน 86.74 ล้านบัญชี คิดเป็น 389,749 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มมากที่สุด
-เกินกว่า 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท จำนวน 3.71 ล้านบัญชี คิดเป็น 262,024 ล้านบาท
-เกินกว่า 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท จำนวน 2.91 ล้านบัญชี คิดเป็น 404,712 ล้านบาท
-เกินกว่า 200,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท จำนวน 2.57 ล้านบัญชี คิดเป็น 802,424 ล้านบาท
-เกินกว่า 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 1.15 ล้านบัญชี คิดเป็น 804,296 ล้านบาท
-เกินกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท จำนวน 1.19 ล้านบัญชี คิดเป็น 2.86 ล้านล้านบาท
-เกินกว่า 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 25 ล้านบาท จำนวน 59,131 บัญชี คิดเป็น 873,336 ล้านบาท
-เกินกว่า 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท จำนวน 17,897 บัญชี คิดเป็น 623,232 ล้านบาท
-เกินกว่า 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท จำนวน 7,174 บัญชี คิดเป็น 492,269 ล้านบาท
-เกินกว่า 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท จำนวน 3,088 บัญชี คิดเป็น 421,561 ล้านบาท
-เกินกว่า 200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท จำนวน 1,749 บัญชี คิดเป็น 537,457 ล้านบาท
-ตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวน 870 บัญชี คิดเป็นเงินฝาก 1.6 ล้านล้านบาท
โดยเงินฝากคนไทยยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากผลพวงของการระบาดโควิด-19 ที่ยังทำให้คนขาดความเชื่อมั่นที่จะนำเงินออกมาใช้จ่าย แม้ผลตอบแทนจะต่ำมากก็ตาม โดย “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้ประเมินเงินฝากทั้งปี 2564 จะเติบโตสูงถึง 3.5-4.5% แม้เงินฝากจะสูงขึ้นจนเกิน 1 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับความคุ้มครอง เพราะ “สถาบันคุ้มครองเงินฝาก” ได้การันตีแล้วว่า แม้จะมีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท ก็มีโอกาสได้รับเงินคืน โดยสถาบันฯจะนำทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปจำหน่าย และนำเงินมาคืนให้ผู้ฝากเงิน
แต่ต้องบอกว่าในเวลานี้ไม่ต้องกังวลว่าสถาบันการเงินใดจะติดขัด เกิดปัญหาการเงินจนปิดกิจการ เพราะดูฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์แล้ว แข็งแกร่ง!! มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงถึง 20.12% สูงกว่าเกณฑ์ที่ แบงก์ชาติ กำหนดขั้นต่ำ 11-12% รวมถึงมีการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือ LCR สูงที่ 195.14% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 100%
ฉะนั้นผู้ฝากเงินไม่ต้องกังวล แม้จะอยู่ในช่วงการระบาดโควิด-19 แต่สถานการณ์ค่อนข้างต่างจากวิกฤติการเงินเมื่อปี 2540 ที่หลายสถาบันการเงินได้ล้มละลายปิดกิจการลง เพราะวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันครั้งนี้ สถาบันการเงินค่อนข้างแข็งแกร่งทีเดียว สะท้อนได้จากตัวเลขฐานะการเงินต่าง ๆ และสถาบันการเงินได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในช่วงวิกฤติต่างๆที่ผ่านมาโดยนำมาปรับใช้รับมือได้เป็นอย่างดี
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย , สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และศูนย์วิจัยกสิกรไทย