Krungthai COMPASS ได้ประเมินทิศทางเงินเฟ้อของไทย หลังจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค. ขยายตัว 0.38% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.23% (แต่ต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 0.64% ) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.86% ชะลอลงเทียบกับ 1.32% ในเดือนก่อน จากผลของฐานในปีก่อนที่เร่งสูงขึ้นและราคาเครื่องประกอบอาหารที่หดตัว ขณะที่ราคาสินค้าบางรายการยังขยายตัวต่อเนื่อง อาทิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และสินค้าของใช้ส่วนตัวในหมวดบริการส่วนบุคคลเป็นต้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 7 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 2.19% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.73%
ทั้งนี้ จับตาเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งขึ้นในระยะข้างหน้า อาจกดดันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง. อีก 0.25% สู่ระดับ 2.50% ในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อเริ่มกลับมาเร่งขึ้นหลังจากผลของฐานสูงในปีก่อนทยอยหมดลง และในระยะข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อมีปัจจัยกดดันเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางปรับตัวขึ้นตามอุปทานที่อาจลดลงต่อเนื่องตามการลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียและการควบคุมการส่งออกของรัสเซียประกอบกับอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี และความเสี่ยงจากปัญหาเอลนีโญที่คาดว่าจะรุนแรงใกล้เคียงกับช่วงปี 2558 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรให้ปรับตัวสูงขึ้นระยะข้างหน้า
อีกทั้งอาจกดดันให้ผู้ประกอบการที่แบกรับต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูงปรับขึ้นราคาสินค้าจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ากลับมาทรงตัวในระดับสูง สอดคล้องกับมุมมองของ กนง. ล่าสุดที่ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับไปเร่งขึ้นและอยู่ในระดับสูงกว่า 2% ในช่วงปี 2567 Krungthai COMPASS จึงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งขึ้นในระยะข้างหน้าอาจทำให้ กนง. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ไปอยู่ที่ 2.50% และจะเป็นระดับที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวกในระยะยาว
ส่วนราคาสินค้าในหมวดพื้นฐานหลายรายการยังทยอยปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 0.04%โดยสินค้าสำคัญที่ปรับเพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารบริโภคในบ้าน หมวดเคหะสถาน (ค่าเช่าบ้าน และอุปกรณ์ซักล้างทำความสะอาด) หมวดบริการส่วนบุคคล (ของใช้ส่วนตัว) และค่าโดยสารสาธาระณะ เป็นต้น สะท้อนถึงผู้ประกอบการยังทยอยส่งผ่านราคาอย่างต่อเนื่อง และประเมินว่าหากต้นทุนราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอีกจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการส่งผ่านราคาเพิ่มขึ้นได้