HomeMoney2know3 ข้อสำคัญ กนง.หยุดขึ้นดอกเบี้ย หลังแตะ 2.00% สูงสุดในรอบ 8 ปี

3 ข้อสำคัญ กนง.หยุดขึ้นดอกเบี้ย หลังแตะ 2.00% สูงสุดในรอบ 8 ปี

“วิจัยกรุงศรี” ได้ออกบทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี ปรับเพิ่ม 0.25% สู่ระดับ 2.00% โดยประเมินเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวส่งผลบวกต่อการจ้างงาน และเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าขยายตัวที่ 3.6% และ 3.8% ตามลำดับ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายและคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5% ในปี 2566 (เดิมคาด 2.9%) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 2.0% (เดิมคาด 2.4%)

แม้ล่าสุดกนง.มีการปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อลงก็ตาม แต่ยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงเมื่อเทียบกับอดีต รวมถึงชี้ว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่คาดไว้ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากนโยบายเศรษกิจของรัฐบาลชุดใหม่ในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่ายังมีสาเหตุสำคัญที่จะสนับสนุนให้กนง.อาจยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ เนื่องจาก

- Advertisement -

1.เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 และ 3 มีแนวโน้มทรงตัว โดยคาดว่าอาจเติบโตต่ำกว่า 3% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 3.7%

2.ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจนในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

3.อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงอยู่ในกรอบเป้าหมายในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจต่ำกว่า 1.5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปีต่ำกว่าที่ ธปท. คาดไว้ที่ 2.0% นอกจากนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงจะกลับมาเป็นบวกได้นับจากนี้ ดังนั้น ในการประชุมกนง.ครั้งหน้าวันที่ 2 สิงหาคม วิจัยกรุงศรีคาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี ที่ 2.00% อย่างไรก็ตาม ยังไม่ตัดความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหากข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีเกินคาดและสถานการณ์การเมืองมีพัฒนาการไปในทางบวกมากขึ้น

ภาคท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศหนุนเศรษฐกิจเดือนเมษายนฟื้นตัวต่อเนื่อง วิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไตรมาสสองเติบโตใกล้เคียงกับไตรมาสแรก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวจากกิจกรรมในภาคบริการที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตทั้งนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 (-4.9% YoY) ตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง (-8.1 %) และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่อ่อนแอในหมวดการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์

หลังจากที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 และเติบโตได้ 2.7% ขณะที่เครื่องชี้เดือนเมษายนสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยวิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้จะขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับไตรมาสแรก โดยมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของภาคท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการจ้างงาน แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 ปีที่ 2.0% และภาคส่งออกยังมีแนวโน้มเผชิญกับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับทั้งปี 2566 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 3.3% โดยยังต้องติดตามการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและทิศทางนโยบายเศรษฐกิจในระยะถัดไป

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News