ช่วงที่ผ่านมาอาจได้ยินคำว่า “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” หลังเกิดสัญญาณ “Inverted Yield Curve” ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะยาวปรับลงมาต่ำกว่าระยะสั้น บวกกับภาวะสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่พร้อมจะปะทุขึ้นทุกเมื่อ ทำให้เกิดความวิตกกังวลกันทั่วโลกว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่การชะลอตัว และอาจนำไปสู่ภาวะถดถอยในที่สุด
เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา 2 ไตรมาส ตัวเลขยังชะลอตัวอยู่ โดยเฉพาะตัวขับเคลื่อนด้านการส่งออกที่หดตัวจากภาวะสงครามการค้า ในขณะที่สำนักวิจัยต่างๆ พากันปรับประมาณ GDP ปีนี้ลง ในขณะที่รัฐบาลก็ต้องเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้านบาท เพื่อดัน GDP ให้ถึงเป้าหมายที่ 3% จนมีคำถามว่า “เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ ?”
แต่หากไปย้อนฟังคำชี้แจงของ “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ที่ยืนยันต่อที่ประชุม ครม. ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยยืนยันว่าเศรษฐกิจไม่ได้ถดถอย เพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจในแต่ละไตรมาสยังเติบโตเป็นบวก ไม่ได้ติดลบ เพียงแต่เป็นการเติบโตในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่คาดไว้เท่านั้น
ขณะที่ “นายอุตตม สาวนายก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยืนยันว่า เศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในภาวะถดถอย ยังสามารถเติบโตได้ แต่รัฐบาลไม่ประมาท จึงได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 3.16 แสนล้านบาทในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอประเมินผลของมาตรการที่ออกไปก่อนหน้านี้
เมื่อ 2 เสียงยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้แค่อยู่ในภาวะชะลอตัว เพราะปัจจัยกดดันจากต่างประเทศโดยเฉพาะสงครามการค้า ยังไม่ถึงขั้นถดถอย และหากไปลองดูมุมมองนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็ยังมองคล้ายๆ กัน ว่าที่เป็นอยู่นี้เกิดจากการชะลอตัวกันทั้งโลก ในเมื่อไทยเรายังไม่มีสัญญาณเสี่ยงถดถอย ลองไปไล่ดูกันว่าแล้วประเทศไหนบ้างที่มีความเสี่ยงมากกว่าเรา
“สิงคโปร์” กับความเสี่ยงภาวะถดถอย
เริ่มที่ใกล้บ้านเราที่สุดอย่าง “สิงคโปร์” ที่ตอนนี้เรียกว่าอยู่ในอาการค่อนข้างหนัก เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก เมื่อสงครามการค้ากระทบไปทั่วโลก เศรษฐกิจสิงคโปร์ก็โดนไปด้วย โดยเฉพาะการส่งออกที่พึ่งพาตลาดจีนถึง 12.5% เมื่อจีนชะลอตัว สิงคโปร์ก็โดนหางเลขเช่นกัน
หากไปดู GDP ไตรมาส 2 ปรากฎว่าขยายตัวแค่ 0.1% ชะลอตัวจากไตรมาสแรกซึ่งอยู่ที่ 1.1% ถือเป็นการหดตัวครั้งใหญ่ในรอบเกือบ 7 ปี ที่น่าเป็นห่วงคือภาคการผลิตที่หดตัว 0.4% เทียบกับไตรมาส 1 และหดตัว 3.8% เทียบปี 61
โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสิงคโปร์ ซึ่งปกติจะส่งออกไปยังจีน และสินค้าต้นทางของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าของจีนที่ส่งไปสหรัฐฯ เมื่อสหรัฐขึ้นภาษี ผู้ประกอบการจีนก็ต้องชะลอคำสั่งซื้อ จึงทำให้ตัวเลขส่งออกสิงคโปร์หดตัวมากสุดในรอบ 3 ปี
และล่าสุด ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ได้เปิดเผยผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ พบว่าส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ปีนี้จะโตแค่ 0.6% ขณะที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลสิงคโปร์ก็ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงมาเหลือแค่ 0-1% เท่านั้น จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5-2.5%
“เยอรมนี” เศรษฐกิจทรุด GDP หดตัว
อีกประเทศหนึ่งก็เป็นพี่ใหญ่ของฝั่งยุโรป ที่เจอทั้งเรื่องสงครามการค้าและปัญหา Brexit โดยตัวเลขจากสำนักงานสถิติเยอรมนีชี้ให้เห็นว่า GDP ไตรมาส 2 ของเยอรมนีหดตัวลง 0.1% จากไตรมาส 1 ที่ 0.4% ขณะที่ GDP ปี 61 ก็โตเพียงแค่ 1.5% เท่านั้น
โดยสาเหตุหลักคือการส่งออกที่ทรุดตัว เยอรมนีนับเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของยุโรป รวมถึงเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปและใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยเฉพาะสินค้าประเภทรถยนต์ ที่ความต้องการทั่วโลกชะลอตัว ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมนีเงียบเหงาไปด้วย
ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) ได้เปิดเผยรายงานดัชนีความอ่อนไหวทางเศรษฐกิจ (Economic Sentiment Index) ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีทรุดตัวลงสู่ระดับ -44.1 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี
ขณะที่ CNN รายงานว่าภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวนี้ เป็นเหมือนพายุลูกใหญ่ที่กระทบประเทศใหญ่ๆ หลายประเทศ และเยอรมนีก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่จะกระทบ แต่ยังอาจลามไปถึงอังกฤษ อิตาลี เม็กซิโก รวมถึงบราซิลด้วย