ราคาทองคำตลอดทั้งปี 62 ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นถึง 15% ขณะที่ราคาทองคำในประเทศให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 7.4% โดยได้ปัจจัยหนุนจากผลกระทบสงครามการค้า ทำให้ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในการป้องกันความเสี่ยง นอกจากนี้ย้อนดูแนวโน้มราคาทองคำ จะพบว่ามีการเคลื่อนไหวของราคาที่มีรูปแบบที่น่าสนใจ
จากข้อมูลของ “ฮั่วเซ่งเฮง โกล์ดฟิวเจอร์ส” โดยรวบรวม ราคาทอง เฉลี่ยย้อนหลัง จะพบว่าช่วงเดือน ม.ค. และ ก.พ. ของปีจะเป็นช่วงที่ราคาทองคำเฉลี่ยปรับตัวขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ ของปี ในขณะที่ช่วงเดือน พ.ย. จะเป็นช่วงที่ราคาทองคำเฉลี่ยปรับตัวลงมากที่สุด
เหตุผลที่ ราคาทอง ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เพราะความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้นจากจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยปริมาณความต้องการทองคำจากจีนมักจะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ของทุกปี โดยเฉพาะความต้องการในกลุ่มเครื่องประดับ
โดยจีนเป็นประเทศที่บริโภคทองคำรายใหญ่ของโลก ดังนั้นความต้องการที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงย่อมส่งผลต่อราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญ โดยราคาเฉลี่ยในเดือนมกราคม จะปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน โดยราคาเฉลี่ย 3 ปี เพิ่มขึ้น 4.57% และราคาเฉลี่ย 5 ปี เพิ่มขึ้น 5.06%
ในขณะที่ช่วงอื่นๆ ของปี จะพบว่าราคาทองคำเฉลี่ยในช่วงไตรมาสที่ 4 จะเป็นช่วงราคาปรับลดลงมากที่สุด โดยพบว่า เดือนตุลาคมราคาเฉลี่ย 3 ปี ปรับลดลง 0.36% และราคาเฉลี่ย 5 ปี ลดลง 0.85% ก่อนที่ราคาจะปรับลดลงอย่างมากในเดือนพฤศจิกายน โดยราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ลดลง 4.92% และเฉลี่ย 5 ปี ลดลง 4.15%
หากพิจารณาจากราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี และ 5 ปี ของทองคำ จะพบว่าช่วงเดือนที่ราคาเฉลี่ยปรับลดลงมากที่สุดของปีคือเดือนพฤศจิกายน และช่วงเดือนที่ราคาเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดของปีคือเดือนมกราคม
ดังนั้นหากประเมินจากราคาเฉลี่ย ช่วงเดือนที่น่าซื้อทองคำมากที่สุดคือเดือนพฤศจิกายน และช่วงที่เหมาะสมในการขายทำกำไรที่สุดคือเดือนมกราคม
แต่การลงทุนทองคำยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันไปด้วย โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยแนวโน้มราคาทองคำปี 63 ยังต้องจับตาดูประเด็นเรื่องสงครามการค้าต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าในระยะยาวยังไม่มีความชัดเจน แต่หากทั้ง 2 ประเทศหาข้อยุติได้อาจเกิดแรงขายทองคำได้ จึงต้องประเมินสถานการณ์เป็นระยะ
ขณะเดียวกันยังต้องจับตา ธนาคารกลางสหรัฐหากยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย จะทำให้ตลาดทองคำยังคงได้รับความสนใจ และ ราคาทอง ก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นได้เช่นกัน (อ่านต่อ >> “ราคาทองคำ” ปี 2020 มีลุ้นทำนิวไฮ เหนือระดับ 1,600 ดอลลาร์)
ทิศทาง ราคาทอง ปี 2563
ส่วนการคาดการณ์ราคาทองคำในปี 63 “พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) ประเมินว่า หากราคาทองในปี 63 สามารถทรงตัวรักษาระดับเหนือ 1,445-1,390 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ หรือ 20,600-19,850 บาทต่อบาททองคำ ก็จะยังมีโอกาสที่ราคาจะแตะระดับที่เคยขึ้นไปสูงสุดของปี 62 บริเวณ 1,557-1,535 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 22,250-21,900 บาทต่อบาททองคำ อีกทั้งหากทรงตัวในระดับนี้ได้จะมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปต่อที่ระดับ 1,603-1,616 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 22,900-23,100 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของราคาที่เคยขึ้นไปในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.56
ขณะที่ “ชลธิศ นวลพลับ” ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท ฮั่วเซงเฮง โกล์ดฟิวเจอร์ส จำกัด ประเมินว่า กรอบการเคลื่อนไหวของราคาปี 63 อยู่ระหว่าง 1,450 – 1,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยประเมินจากราคาปี 62 ที่ประมาณ 1,480 ดอลลาร์ต่อออนซ์ บวกลบ 10-15% โดยในทางเทคนิคคาดว่าราคาไม่น่าหลุด 1,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยหากราคาสามารถที่บริเวณ 1,530 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อไปถึง 1,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้
ส่วนทองคำในประเทศ ยังคงมีปัจจัยกระทบจากทิศทางของค่าเงินบาทที่ปี 63 ยังคงคาดการณ์ว่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในทางแข็งค่าไม่แตกต่างจากปี 62 ซึ่งเป็นปัจจัยกดราคาทองคำในประเทศสำหรับปี 63 อยู่
หากประเมินทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าแล้ว ก็คาดว่าในปี 2563 แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายการเงินก็ยังคงเป็นเป็นแบบผ่อนคลาย ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนุน ราคาทอง เอื้อต่อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง “ทองคำ” ในปี 2563 (อ่านต่อ >> โค้งสุดท้ายการลงทุนทั่วโลกยังผันผวนโอกาส ทองคำ – หุ้นอเมริกา ขาขึ้น ส่วนหุ้นไทยหาจังหวะซื้อราคาต่ำ)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
>> สหรัฐโจมตีอิรัก !! จับตาราคา ทองคำ น้ำมัน ปี63 พุ่งไกลแค่ไหน
>> “ทองคำ” แพะรับบาปเมื่อ “บาทแข็ง”