อินเทอร์เน็ตประเทศไทย ปรับกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง หยุดลงทุนใหญ่หันมาโฟกัสธุรกิจเอาท์ซอสเนื่องจากเห็นโอกาสในการขาดแคลนของตลาดและต้องการรักษาสถานภาพการเงินของบริษัทฯ ตั้งเป้าไตรมาส 4 กลับมาทำกำไรได้ปกติ ยังหวังยอดขายปี 62 โต 35%
นายวัลล์ชัย เวชชีวะดำรงค์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด(มหาชน) ชี้แจงผลดำเนินงานไตรมาส 2/62 ในงาน Opportunity Day บริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
นายวัลล์ชัย กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังคงให้บริการใน 3 ธุรกิจหลักเช่นเดิม ประกอบด้วย Cloud Solution, Co-Location และ Internet Access ซึ่งผลประกอบการในช่วงปี 58 -60 ปรากฏว่าธุรกิจ Cloud Solution มีการเติบโคสูงมาก จึงได้หนุนให้ธุรกิจ Internet Access เติบโตตามไปด้วย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เกื้อหนุนกัน แต่ปัจจุบันธุรกิจ Cloud Solution มีการชะลอตัวลง เนื่องจากมีการเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ ๆ
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2/62 บริษัทฯ มีจำนวนลูกค้าประเภทองค์กรทั้งสิ้นจำนวน 2,538 องค์กร โดยตั้งเป้าการเติบโตของลูกค้าองค์กรในปีนี้ไว้ที่ 35% ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีจพนวนลูกค้าไม่น้อยกว่า 3,000 องค์กร โดยลูกค้าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นในยุคปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ พยายามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการหาลูกค้าอยู่ตลอดเวลา เช่นในอดีตลูกค้าประเภทองค์กรของบริษัทฯ จะเป็นแผนกไอทีขององค์กรต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันบริษัทฯ พยายามเพิ่มความหลากหลายของลูกค้ามากขึ้น เช่นพยายามเจาะกลุ่มแผนกอื่น ๆ ในองค์กรต่าง ๆ ให้เข้ามาเป็นลุกค้าของบริษัทฯ
ขณะที่ แผนการดำเนินงานในการนำดาต้าเซ็นเตอร์ เข้ากองทุนรวมพื้นฐานประเภทกองอินฟราฟันด์ ซึ่งเป็นกองทุนประเภทที่ได้ยิลด์ดี โดยบริษัทฯจะได้ประโยชน์จากการนำดาต้าเซ็นเตอร์ เข้ากองอินฟราฟันด์ในการได้เงินสดที่ลงทุนกลับมา แต่ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามแผนที่ได้วางไว้ในช่วงไตรมาส 3/62 อย่างแน่นอน
เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลมีความต้องการควบคุมกองทุนรวมประเภทอินฟราฟันด์ โดยกองทุนต้องมีใบอนุญาต ตามกฎของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ทำให้แผนนำดาต้าเซ็นเตอร์ เข้ากองทุนรวมในช่วงไตรมาส 3/62 ต้องชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ทั้งนี้ มีหลายมติให้บริษัทฯ เปลี่ยนไปเข้ากองทุนประเภทรีด ซึ่งสามารถเข้าได้ทันที แต่บริษัทฯมองว่าจะได้ประโยชน์ไม่เท่ากับกองทุนประเภทอินฟราฟันด์ เนื่องจากกองทุนประเภทรีดต้องเสียภาษี ได้ยิลด์น้อย และเงินต้นที่มีการขายเข้ากองมีอัตราต่ำ ซึ่งไม่ต่างจากการกู้เงิน
การที่บริษัทฯ ไม่สามารถนำดาต้าเซ็นเตอร์ เข้ากองทุนอินฟราฟันด์ได้ จะทำให้บริษัทฯ เข้าสู่ภาวะความเสี่ยง เนื่องจากบริษัทฯ พยายามขยายการเติบโตแต่ตัวเงินลงทุนกลับไปจมอยู่ในดาต้าเซนเตอร์ ดังนั้นถ้าไม่มีการทำอินฟราฟันด์จะทำให้การเติบโตของบริษัทฯเป็นไปอย่างเชื่องช้า ซึ่งบริษัทฯ เล็งเห็นว่าช่วงนี้ควรชะลอตัวในการลงทุนครั้งใหญ่ และใช้เงินสดให้ต่ำลง
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ชะลอการลงทุน บริษัทฯ ยังเล็งเห็นโอกาสใหม่ ๆ ที่ประเทศไทยยังขาดแคลนนั่นคือการทำเอาท์ซอส เอนจิ้น แพลตฟอร์ม ซึ่งลูกค้าในมือเราก็ยังคงขาดแคลนผู้พัฒนาด้านต่าง ๆ โดยบริษัทฯ จะโฟกัสการทำธุรกิจประเภทเอาท์ซอสเป็นหลักในช่วงนี้ เพราะไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เพียงแค่ใช้คนที่มีทักษะในการจัดการระบบต่าง ๆ เข้าไปบริการลูกค้า โดยบริษัทฯ ได้เตรียมพนักงานกว่า 100 คน ในการให้บริการดังกล่าวแล้ว และจะหยุดการลงทุนหนักทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดาต้าเซนเตอร์ รวมถึงคลาวด์เซอร์วิซ เพื่อลดภาระการเงินของบริษัทฯลง
กล่าวโดยสรุปคือช่วงนี้เป็นช่วงที่บริษัทฯ จะไม่ลงทุนเพิ่ม และหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านคอนเนคเทอร์วิตี้ โดยจะหันมาพัฒนา Knowledge as a Service และแพลทฟอร์มให้พร้อมใช้งานเร็วที่สุด ซึ่งการปรับแผนเช่นนี้ จะทำให้ผลประกอบการบริษัทฯ กลับมาเติบโตปกติอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4/62 และเชื่อว่าทั้งปี 62 จะสามารถสร้างการเติบโตของยอดขายได้ที่ 35% และรักษากำไรก่อนหักภาษีได้ไม่ต่ำกว่า 5%
ราคาหุ้น INET ก่อนปิดซื้อขายวันที่ 5 ก.ย. 62 อยู่ที่ 3.36 บาท/หุ้น ลดลงจากเมื่อวันที่ 4 ก.ย.62 ที่ 3.56 บาท/หุ้น (-5.62%)