“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานสถานการณ์เงินบาท ระบุว่า เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามสถานะขายสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 หลังสายพันธุ์กลายพันธุ์โอไมครอนเริ่มระบาดในหลายประเทศ
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนและดัชนี ISM ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด ซึ่งหนุนความเป็นไปได้ที่เฟดจะเร่งลดวงเงิน QE และอาจตามมาด้วยการส่งสัญญาณคุมเข้มมากขึ้น หลังประธานเฟดเปิดเผยว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะทรงตัวสูงเป็นเวลานานกว่าที่เคยประเมินไว้
ทั้งนี้ในวันศุกร์ (3 ธ.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังระหว่างวันอ่อนค่าไปที่ 33.99 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับที่ทำไว้เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา และเป็นสถิติอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2560 เทียบกับระดับ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 พ.ย.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (6-10 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.50-34.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนต.ค. ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค. (เบื้องต้น) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามจีดีพีไตรมาส 3 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ย. ของจีน อาทิ ตัวเลขการส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตด้วยเช่นกัน