บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ เตรียมแผนเสนอขายหุ้น IPO 280 ล้านหุ้น จ่อแปลงสภาพพ้นการเป็นรัฐวิสาหกิจ หลังเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ บสก. ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญ (IPO) ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยหุ้นที่เสนอขายประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 280 ล้านหุ้น
รวมทั้งสิ้นจำนวนไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 54.4 ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้(กรณีมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ จำนวนทั้งหมด) จะนำเงินจากการระดมทุนไปขยายธุรกิจซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายในอนาคต ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และชำระหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทฯ หรือตั๋วเงินที่ถึงกำหนด และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
ด้าน นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวถึงแผนการระดมทุนว่า BAM เชื่อมั่นในศักยภาพ และจุดแข็งของบริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่สุดในประเทศ มีประสบการณ์กว่า 20 ปี และยังมีแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย ผลประกอบการแข็งแกร่ง
สำหรับ 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีกำไรสุทธิเฉลี่ยกว่า 4,500 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 107,667 ล้านบาท ซึ่งเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี มีเครือข่ายทั่วประเทศรวม 26 แห่ง โดยปัจจัยที่สำคัญคือ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์มีโอกาสในทุกภาวะเศรษฐกิจ กล่าวคือในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทฯ สามารถเลือกซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้ในต้นทุนที่เหมาะสม ในช่วงภาวะเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ลูกหนี้ของบริษัทฯ ยังมีศักยภาพในการชำระหนี้ และลูกค้าของบริษัทฯ มีกำลังซื้อสินทรัพย์รอการขาย เป็นการสร้างรายได้ให้บริษัทฯ
ทั้งนี้ การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน ทำให้บริษัทฯ สามารถระดมทุนและเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น BAMจะสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบธนาคารมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 12.8% ประกอบกับราคาประเมินที่ดินล่าสุดในช่วงปีที่ผ่านมา มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยโดยภาพรวมทั้งประเทศ 27.7% จากโอกาสทางธุรกิจเช่นนี้ BAM ได้กำหนด 3 ยุทธศาสตร์หลักที่จะเพิ่มการเติบโตดังนี้
1.ขยายทรัพย์สิน BAM ติดตามการขาย NPLs และ NPAs อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายทรัพย์สิน และคัดเลือกสินทรัพย์ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะทำให้บริษัทฯสามารถบริหารต้นทุนการได้มาซึ่งสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.ลดระยะเวลาการดำเนินการเพื่อสร้างรายได้เร็วขึ้น BAM ให้ความสำคัญกับการเจรจาลูกหนี้ การปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ตามกำลัง นอกจากนี้ยังทำตลาดเชิงรุกโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย เช่นเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย
3.การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กร BAM ได้จัดฝึกอบรมพนักงานทั้งภายในและนอกองค์กรเพื่อพัฒนาความสามารถของพนักงาน รวมทั้งเตรียมแผนสืบทอดตำแหน่งที่ชัดเจน
ทั้งนี้ BAM มีกำไรสุทธิในปี 61 รวม 5,202 ล้านบาท เติบโตขึ้น 15.58% เมื่อเทียบกับปี 60 โดยตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ จนถึงวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ปิดบัญชีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ (NPLs) ซึ่งคำนวณจากมูลค่าต้นทุนการซื้อไปแล้วเป็นจำนวน 90,562 ล้านบาท โดยสามารถเรียกเก็บเงินสดได้จำนวน 122,931 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในปี 61 BAM มีเงินสดรับจากธุรกิจ NPLs และ NPAs รวมทั้งสิ้น 16,569 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 60 กว่า 22.59% โดย ณ วันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา BAM มีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้สุทธิ 74,482 ล้านบาท ซึ่งหลักประกันของลูกหนี้ดังกล่าวมีมูลค่าอิงตามราคาประเมิน 187,875 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รอการขายสุทธิ 21,731 ล้านบาท โดยมีมูลค่าอิงตามราคาประเมิน 50,287 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม BAM มีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ หลังหักภาษีเงินได้ของงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ และภายหลังจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย
ปัจจุบัน BAM มีทุนจดทะเบียน 16,225 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 3,245 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 5 บาท และมีทุนที่ออกและชำระแล้ว 13,675 ล้านบาท โดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ถือหุ้น 99.99% ซึ่งหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ FIDF มีนโยบายถือหุ้น BAM ในสัดส่วนต่ำกว่า 50% แต่ไม่ต่ำกว่า 45%