ในปี 2564 กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรได้ขยายเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไปอีกปี เพื่อยืดหยุ่นให้มนุษย์เงินเดือนบางท่านที่อาจยังไม่พร้อมยื่นภาษีเงินได้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 จากเดิมเป็นประจำทุกปีผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาจะต้อง ยื่นภาษี หรือยื่นขอลดหย่อนภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ไปจนถึง 31 มี.ค. แต่ในปี 2564 หรือผู้ที่มีเงินได้ตลอดปี 2563 กรมสรรพากรได้ขยายการยื่นภาษีไปสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.2564
อ่าน : ขยายเวลายื่นภาษีปี’63 ช่วยบรรเทาภาระถึง 30 มิ.ย. 2564
สำหรับรายการลดหย่อนภาษี 2563 ที่ต้องยื่นภายในวันที่ 30 มิ.ย.2564 มีอยู่หลายหมวดหลายรายการที่สิ้นสุดเมื่อปี 2563 หรือบางรายการเป็นรายการพิเศษที่ลดหย่อนให้เฉพาะปี 2563 เท่านั้น มีอะไรบ้าง? สามารถตรวจสอบได้ ดังนี้
- กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) ลดหย่อนได้สูงสุด 200,000 บาท โดยค่าลดหย่อนไม่รวมกับกองทุนเพื่อการออม (SSF) และไม่รวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ โดยเปิดโอกาสให้ซื้อระหว่างวันที่ 1 เม.ย.- 30 มิ.ย.2563
- โครงการบ้านหลังแรก สูงสุดปีละ 120,000 บาท ไม่เกิน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2563 สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกและโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2559 ซึ่งในปี 2563 เป็นปีสุดท้ายที่ได้รับการลดหย่อนภาษีโครงการบ้านหลังแรก วิธีการ คือ ผู้ซื้อบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท ได้รับสิทธิไม่เกิน 20% โดยนำมาเฉลี่ยลดหย่อนภาษีนาน 5 ปี หรือคิดเป็น 600,000 บาท เฉลี่ยสูงสุด 120,000 บาทต่อปี
- ค่าลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รายการ “ช้อปดีมีคืน” ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งมาตรการนี้รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ ยื่นภาษี ได้จับจ่ายใช้สอยเงินในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเศษฐกิจหลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ในรอบแรก โดยจะต้องซื้อสินค้าและบริการ ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค.2563 เท่านั้น
ส่วนรายการลดหย่อนภาษีทั่วไป แบ่งเป็นหมวด ดังนี้
ค่า ลดหย่อนภาษี ส่วนตัวและครอบครัว
- ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท
- ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนบุตรคนที่สอง 30,000 บาทต่อคน
- ค่าอุปการะบิดา-มารดา(ของตัวเองและคู่สมรส) 30,000 บาทต่อคน สูงสุด 4 คนรวม 120,000 บาท
- ค่าอุปการะผู้พิการ หรือผู้ทุพพลภาพ 60,000 บาท
ค่าลดหย่อนกลุ่มประกัน เงินออม การลงทุน
- ประกันสังคม ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 5,850 บาท
- ประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต ลดหย่อนตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันสุขภาพตัวเอง ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท
- ประกันสุขภาพ บิดา-มารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
- ประกันชีวิตบำนาญ ลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลดหย่อนตามจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนเกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท ให้หักจากเงินได้
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ลดหย่อนได้สูงสัด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 13,200 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
**** ทั้งนี้หมวดดังกล่าวรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
หมวดค่าลดหย่อนอสังหาริมทรัพย์
- ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
หมวดค่าลดหย่อนกลุ่มเงินบริจาค
- เงินบริจาค สนับสนุนการศึกษา ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนอื่นแล้ว
- เงินบริจาคให้สถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง รวมกับเงินบริจาคเพื่อการศึกษาต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นแล้ว
- เงินบริจาคสนับสนุนการกีฬา ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง รวมกับเงินบริจาคเพื่อการศึกษาต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่ามช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอื่นแล้ว
- เงินบริจาค เพื่อการพัฒนาสังคม ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง รวมกับเงินบริจาคเพื่อการศึกษาต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอื่นแล้ว
- เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่บริจาคจริง ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนอื่นแล้ว
- เงินบริจาคให้พรรคการเมือง ลดหย่อนได้ตามที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
อ่าน : เช็คสิทธิ ‘ลดหย่อนภาษี’ ก่อน ‘ยื่นภาษี’ ประหยัดรายจ่ายได้ยามวิกฤติ