HomeMoney2knowจับตา ‘Virtual Bank’ ปฏิวัติการเงินไทย เปรียบเทียบข้อแตกต่างกับ ‘ธนาคารดั้งเดิม’

จับตา ‘Virtual Bank’ ปฏิวัติการเงินไทย เปรียบเทียบข้อแตกต่างกับ ‘ธนาคารดั้งเดิม’

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้พิจารณาการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแบงก์ หรือ Virtual Bank) เพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ไปอย่างรวดเร็ว โดยในแต่ละประเทศหน่วยงานกำกับดูแลได้เริ่มจัดตั้งบ้างแล้วในหลายประเทศ ซึ่งให้จัดตั้งเป็น Digital-only bank หรือ Virtual bank เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ไร้สาขาและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ

รูปแบบการให้บริการของ Virtual bank

- Advertisement -

Virtual bank หรือ Digital-only bank หมายถึง ธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยมีลักษณะสำคัญ คือ

1.ไม่มีจุดให้บริการที่มีสถานที่ตั้งทางกายภาพ เช่น สาขา และตู้ ATM แต่สามารถจัดตั้งสำนักงานใหญ่ได้

2.ให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ เริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักลูกค้า (KYC) การรับฝากเงิน ไปจนถึงการให้บริการทางการเงินอื่น ๆ เช่น การให้สินเชื่อ การโอนและชำระเงิน และการลงทุน โดยลูกค้าสามารถใช้บริการ ติดต่อสอบถาม หรือร้องเรียนการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่ Virtual bank จัดเตรียมไว้

ทั้งนี้ Virtual bank มีการรับเงินฝากและได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งแตกต่างจากการให้บริการทางการเงินดิจิทัลแบบอื่น ๆ เช่น (1) Peer-to-Peer lending ซึ่งมี Platform ทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยในการจับคู่ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ (2) Crowdfunding ซึ่งมี Platform ทำหน้าที่ตัวกลางช่วยจับคู่ผู้ระดมทุนและนักลงทุน และ (3) Decentralized Finance (DeFi) ซึ่งเป็นการให้บริการทางการเงินโดยไม่ผ่านตัวกลาง

นอกจากนี้ Virtual bank มีข้อแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมในเรื่องของระบบคอมพิวเตอร์หลักที่ใช้บริหารจัดการงานธนาคาร (Core banking system) โดย Core banking system ของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมส่วนใหญ่ถูกพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีเก่าที่ขาดความยืดหยุ่นในการเชื่อมต่อกับระบบงานอื่น ๆ หรือไม่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Legacy system)

แม้ว่า ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมหลายแห่งได้ปรับปรุงโครงสร้างระบบงานเพื่อสนับสนุนการให้บริการทางการเงินดิจิทัล แต่ยังคงอยู่ใน 2 รูปแบบหลัก คือ (1) การให้บริการ Internet/ Mobile banking โดยใช้ Core banking system เดิมควบคู่กับการให้บริการที่สาขาจุดให้บริการ

(2) การให้บริการ Internet/ Mobile banking บน Core banking system ที่พัฒนาขึ้นใหม่ แต่ยังคงใช้โครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการให้บริการทางการเงินดิจิทัลแก่ผู้บริโภค แต่การพึ่งพา Core banking system หรือโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิม ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงเผชิญอุปสรรคเกี่ยวกับความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน การบริหารจัดการทรัพยากรภายใน รวมถึงข้อจำกัดด้านกฎเกณฑ์การกำกับดูแลอยู่บ้าง

ด้วยลักษณะของ Virtual bank ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลโดยไม่มีสาขา และมี Core banking system บนเทคโนโลยีใหม่ที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อและใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ได้โดยง่าย ส่งผลให้ Virtual bank (1) มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม (2) สามารถพัฒนานวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค และ (3) นำเสนอประสบการณ์ในการใช้บริการทางการเงินที่ดีให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เป็นที่น่าสนใจว่า ธุรกิจ Virtual Bank หรือธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในประเทศไทย ใครบ้างจะเข้าร่วมวงเป็นผู้เล่นนำร่อง โดยแบงก์ชาติเตรียมให้ใบอนุญาตประเดิมแค่ 3 ราย จากตอนนี้มีผู้สนใจมากกว่า 10 ราย และเริ่มแสดงตัวออกมาแล้วว่าใครสนใจกันบ้าง แค่เห็นชื่อก็น่าจะสร้างความตื่นเต้นไม่น้อย เพราะแต่ละชื่อมีแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดังทั้งนั้น ทำให้หลังจากนี้ต้องติดตามใกล้ชิดว่า ธุรกิจ Virtual Bank จะเข้ามาปฏิวัติวงการการเงินดิจิทัลในไทยได้มากน้อยแค่ไหน

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News