ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและชัดเจนขึ้น โดยธปท.ได้ประกาศให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้กลับเข้าสู่อัตราปกติที่ 0.46% ต่อปี ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มทยอยประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.40% กันแล้ว
มาดูกันว่าธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศไทย ได้ปรับดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่ม 0.40% ต่อปี แล้วอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่เท่าไร ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) , ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) และดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) โดยส่วนใหญ่เริ่มมีผลกันตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.2566
ธนาคารกรุงไทย ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.40% ต่อปี เริ่มมีผลตั้งแต่ 3 ม.ค.2566 เป็นต้นไป
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารกรุงไทย ดังนี้
– MLR เท่ากับ 6.15% ต่อปี
– MOR เท่ากับ 6.72% ต่อปี
– MRR เท่ากับ 6.77% ต่อปี
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และบริษัทในเครือ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.40% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.2566 เป็นต้นไป
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารกรุงศรีฯ ดังนี้
– MLR เท่ากับ 6.48% ต่อปี
– MOR เท่ากับ 6.725% ต่อปี
– MRR เท่ากับ 6.65% ต่อปี
ธนาคารกสิกรไทย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.40% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.2566 เป็นต้นไป
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารกสิกรไทย ดังนี้
– MLR เท่ากับ 6.37% ต่อปี
– MOR เท่ากับ 6.74% ต่อปี
– MRR เท่ากับ 6.50% ต่อปี
ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา 0.40% ต่อปี มีผลมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารไทยพาณิชย์ ดังนี้
– MLR เท่ากับ 6.15% ต่อปี
– MOR เท่ากับ 6.745% ต่อปี
– MRR เท่ากับ 6.52% ต่อปี
ธนาคารทหารไทยธนชาต ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่าง 0.30-0.40% เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.2566 เป็นต้นไป
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารทหารไทยธนชาต
– MLR เท่ากับ 6.925% ต่อปี
– MOR เท่ากับ 7.05% ต่อปี
– MRR เท่ากับ 7.08% ต่อปี
อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายธนาคารที่กำลังทยอยประกาศปรับเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นของต้นทุนการเงิน หลังจากธนาคารต้องกลับมานำส่งเงินเข้ากองทุน FIDF ในอัตรา 0.46% เท่าเดิม จากในช่วงโควิดได้ปรับลดเหลือ 0.23% และแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้ยังไม่หมด เพราะยังมีโอกาสที่ธปท.จะปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ดอกเบี้ยของธนาคารยังจำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้นอีกในปี 2566 นี้