“ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)” สำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ได้สำรวจผลกระทบของการเลือกตั้งและการเมืองต่อการลงทุนของภาคธุรกิจในปี 66 พบว่า การเลือกตั้งและการเมืองส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจน้อย โดยธุรกิจส่วนใหญ่ทั้งในภาคการผลิตและภาคไม่ใช่การผลิตยังคงลงทุนตามแผนเดิม ซึ่งผู้ประกอบการจะพิจารณาปัจจัยพื้นฐานก่อน เช่น กำลังซื้อ การแข่งขัน และแหล่งเงินทุน
ขณะเดียวกันมีธุรกิจส่วนหนึ่งเลื่อนแผนการลงทุน เช่นธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจการค้า และธุรกิจผลิตเคมีภัณฑ์ เพื่อรอความชัดเจนของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนและค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด ธุรกิจบางส่วนจะหันไปลงทุนในออโตเมชั่นหรือระบบอัตโนมัติมากขึ้น หรืออาจชะลอการลงทุนในไทยได้ และไปเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่าแทน
นอกจากนี้ยังประเมินภาวะการส่งออกของธุรกิจในไตรมาส 2 ปี 66 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่า การส่งออกในไตรมาส 2 ปี 66 โดยรวมมีแนวโน้มทรงตัวจากไตรมาสก่อน มีหลายธุรกิจประเมินว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน เช่น ธุรกิจผลิตเคมี ปิโตรเลียม เครื่องปรับอากาศ และผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่ส่วนใหญ่จะขยายตัวเพียงเล็กน้อยไม่เกิน 10% ตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น และปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ทยอยคลี่คลายลง ซึ่งหลายธุรกิจคาดว่าการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน เช่น ภาคการค้าและธุรกิจผลิตยานยนต์
ขณะที่ระยะเวลาการให้เครดิต หรือเครดิตเทอม ของธุรกิจ พบว่า ระยะเวลาการให้เครดิตของธุรกิจในปัจจุบันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนโควิด โดยธุรกิจส่วนใหญ่ให้ระยะเวลาการชำระเงินค่าสินค้าและบริการแก่คู่ค้าเฉลี่ย 16-45 วัน ขณะที่กว่าครึ่งของธุรกิจผลิตอาหารให้เครดิตเทอมมากกว่า 45 วัน ซึ่งนานกว่าธุรกิจการผลิตอื่นๆ และธุรกิจบางส่วนในกลุ่มบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะไม่มีการให้เครดิตเทอมแก่คู่ค้า
ธปท.ยังได้สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกในเดือนพ.ค.อยู่ที่ 51.2 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่มีเทศกาลสงกรานต์ และมีกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ขณะที่ค่าครองชีพยังทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการคาดว่าในระยะต่อไปจะมีการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจับกดดันดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ให้ปรับลดลงด้วย
ทั้งนี้หากแยกตามประเภทร้านค้าพบว่าความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันปรับลดลงจากกลุ่มห้างสรรพสินค้าและร้านอาหาร เนื่องจากผู้บริโภคพยายามลดรายจ่าย โดยเลือกซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็นและลดความถี่ในการทานอาหารนอกบ้าน และความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมทุกภูมิภาคปรับลดลง โดยอยู่ต่ำกว่าระดับ 500 ยกเว้นภาคใต้ เนื่องจากยังไม่มีมาตรการภาครัฐช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคออกมาใหม่ ทำให้ความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงเช่นเดียวกัน