HomeMoney2knowFunds5 สิทธิที่ลูกหนี้ควรรู้ หนทางรอดท่ามกลางวิกฤติ

5 สิทธิที่ลูกหนี้ควรรู้ หนทางรอดท่ามกลางวิกฤติ

หนึ่งในปัญหาของลูกหนี้ในช่วงภาวะวิกฤติโดยเฉพาะวิกฤติขั้นรุนแรงที่สุด ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันจากพิษการระบาดของโควิด-19 ทำให้ลูกหนี้ต้องตกที่นั่งลำบาก เงินไม่พอใช้หนี้ เพราะรายได้ลดลง และต้องตกงาน โดยที่ตัวเองไม่รู้มาก่อนว่า ควรทำอย่างไรหากเจอสถานการณ์เช่นนี้ และไม่รู้ว่า สิทธิของลูกหนี้มีอะไรบ้าง?

สิทธิที่ลูกหนี้ควรรู้เมื่อเกิดสถานการณ์อันไม่สู้ดี และกำลังจะเป็น ผู้ไร้ความสามารถชำระหนี้ คนหนึ่ง โดยจำเป็นต้องหาทางออกให้ได้เร็วที่สุด สิ่งแรกที่ลูกหนี้ควรรู้ คือ สิทธิที่ตัวเองสามารถติดต่อเพื่อขอเจรจากับเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการด้านสินเชื่อต่าง ๆ ได้ เพื่อหาทางออกร่วมกัน จนไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล

โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ยังบอกสิทธิที่ลูกหนี้ควรรู้ 1.สิทธิแรกคือ ทางด่วนแก้หนี้ เป็นช่องทางเสริมให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาด้านภาระหนี้สิน โดยมี แบงก์ชาติ เป็นตัวกลางระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายเงินได้ตามข้อตกลงที่ได้ทำสัญญากันไว้ และไม่รู้จะติดต่ออย่างไร หรืออาจติดต่อแล้วเจรจากันไม่ลงตัว ทำให้ต้องมีตัวกลางคอยประสานและช่วยไกล่เกลี่ยให้

- Advertisement -

ซึ่ง ทางด่วนแก้หนี้ ในช่วงที่ผ่านมายังลดภาระการติดตามทวงถามหนี้ได้เป็นอย่างดี โดยทำให้เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน และลูกหนี้ที่มีปัญหามีความพึงพอใจได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้หากลูกหนี้รายใดมีปัญหาอยากหาทางออก ติดต่อ ทางด่วนแก้หนี้ โทร 1213 หรือ www.1213.or.th และผ่าน Facebook : 1213

2.แต่ถ้าหากลองติดต่อเจรจาแล้วคุยกันไม่ลงตัว และยังทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามตกลง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ลูกหนี้ยังมีสิทธิขอไกล่เกลี่ยก่อนที่เจ้าหนี้จะฟ้องดำเนินคดี ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะให้เป็น คำพิพากษาตามยอม หรือ บันทึกข้อตกลง ถ้าหากเลือก บันทึกข้อตกลง ในเวลาต่อมาการเกิดผิดนัดชำระหนี้จะต้องเข้ากระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีตามปกติ แต่ยังไม่สามารถขอให้ศาลบังคับได้

สำหรับสิทธิที่ลูกหนี้ไกล่เกลี่ยผ่าน 2 ช่องทาง โดยช่องทางแรก ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ติดต่อเบอร์โทร 02-512-8498 ต่อ 2618 หรือเข้ามาที่เว็บไซต์ ศาลยุติธรรม หรือ Facebook : ไกล่เกลี่ย สำนักงานศาลยุติธรรม COJ-Mediation ส่วนช่องทางที่สอง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนยุติธรรม 1111 กด 77 หรือเข้ามาที่เว็บไซต์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ Facebook : กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

3.สิทธิที่สาม ลูกหนี้ควรรู้ว่าเมื่อเจ้าหนี้ฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว การไกล่เกลี่ยจะอยู่ในชั้นศาล ซึ่งในชั้นนี้จะมีบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยของศาลมาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยหนี้ให้ โดยในชั้นนี้จะต้องยินยอมกันทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งศาลจะออกเป็น คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า สัญญายอม หรือ หากลูกหนี้ชำระหนี้เสร็จสิ้น จะนำไปสู่การถอนฟ้อง แต่หากลูกหนี้ยังไม่สามารถทำตามได้อีก เจ้าหนี้สามารถออกหมายบังคับได้เลย ถือว่ามีคำพิพากษาแล้ว ไม่ต้องฟ้องร้องกันใหม่

4.สิทธิที่สี่ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะเจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ได้อีกครั้งหนึ่ง แม้ศาลจะมีคำพิพากษาแล้ว แต่ยังไม่ได้บังคับคดี โดยเข้าไปที่ศาล หรือศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดี หากตกลงกันได้จะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร

5.สิทธิที่ห้า หากศาลพิพากษาและมีการออกหมายบังคับคดี ซึ่งลูกหนี้ส่วนใหญ่จะรู้สึกหมดหวังแล้ว แต่ความจริงลูกหนี้ยังมีสิทธิจะยื่นขอไกล่เกลี่ยได้ที่ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดี ได้ทุกแห่ง โดยถ้าหากไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ จะนำไปสู่การงดขายทรัพย์ทอดตลาด หรือถอนการยึดกรณีพิพากษาแล้ว โดยติดต่อไปที่ 1111 กด 79

หากลูกหนี้รายใดกำลังเจอกับปัญหาด้านการเงินครั้งใหญ่ ต้องอย่าลืมสิทธิที่ควรรู้! จะได้หาทางออกกับเรื่องที่เกิดขึ้น และต้องอย่าลืม หากเป็นหนี้ก็ต้องใช้คืนตามสัญญา สามารถเจรจาเจ้าหนี้ไว้ก่อนเมื่อเกิดปัญหา จะได้ไม่ต้องให้เรื่องยุ่งยากเป็นหนี้เสีย ถูกฟ้องร้อง ขึ้นโรงขึ้นศาล เสียทั้งทรัพย์ เสียทั้งเวลา เชื่อว่าท่ามกลางวิกฤติในเวลานี้ไม่มีเจ้าหนี้รายใด ไม่ยอมช่วยเหลือลูกหนี้ที่กำลังเดือดร้อนแน่นอน!!!

อ่าน :

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News