การคาดหมายอนาคตของโซเชียลมีเดีย เป็นเรื่องน่าสนุกไม่น้อย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแทบทุกวัน ในรูปของเครื่องมือใหม่ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวก รวมถึงเพิ่มช่องทางการติดต่อและติดตาม
ช่วงสิบปีที่ผ่านมา การชอปปิงได้ผสานแบบไร้รอยต่อเข้ากับแพลทฟอร์มโซเชียลไปเรียบร้อย บรรดาแพลทฟอร์มโซเชียลมีบทบาทมากทีเดียว ในการทำให้อีคอมเมิร์ซกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ในสหรัฐ รวมถึงประเทศอื่น
ไม่ต้องสงสัยว่าเทรนด์นี้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในปี 2563 และจะมีโพสต์ เรื่องราว รวมถึงลิงก์ขายของมากขึ้นตามโซเชียลมีเดีย
เมื่อบรรดายูสเซอร์ คาดหวังและต้องการเข้าถึงแบรนด์รวมถึงสินค้า ผ่านแพลทฟอร์มโซเชียล ผู้นำเสนอสินค้าและบริการจึงต้องสร้างและดึงความสนใจ ผ่านวิธีการเล่าเรื่องแบบสร้างสรรค์และในแบบที่ผู้คนมีส่วนร่วมด้วยได้ ซึ่งก็มักอยู่ในรูปแบบวิดีโอหรือใช้ผู้ทรงอิทธิพลบนโซเชียลมีเดีย (influencer) มาช่วยทำการตลาด
ในปี 2563 การทำตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์จะดำเนินไปต่อเนื่อง การสำรวจของบริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐพบว่านักการตลาด 59% มีแผนเพิ่มงบอินฟลูเอนเซอร์ในปี 2563 เพราะผู้บริโภคอยากได้รีวิวจากคนที่พวกเขาเชื่อถือก่อนตัดสินใจซื้อ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูงหรือญาติ และขยายวงไปถึงคนที่พวกเขา follow ตามโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่เซเลบ ศิลปิน ไปจนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ
โซเชียลมีเดียถือเป็นเครื่องมืออย่างดีสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจขนาดกลาง (SMB) รวมถึงสตาร์ทอัพ เพราะเปิดโอกาสให้แบรนด์เล็กๆ ที่มีงบน้อย สามารถแข่งขันกับแบรนด์ใหญ่ๆ ได้บนเวทีเดียวกัน SMB หลายรายไม่มีงบจ้างอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ดังนั้นปี 2563 จึงมีโอกาสมากขึ้นที่จะได้เห็น micro-influencer (กลุ่มคนทั่วไปที่ชอบรีวิวสินค้า หรือบล็อกเกอร์ที่ผลิตคอนเท็ต์เกี่ยวกับการแนะนำสินค้า ซึ่งมีผู้ติดตามจำนวนไม่มากหรือผู้ติดตามเฉพาะกลุ่ม)
อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้นำเสนอสินค้าและบริการจะลืมไม่ได้ คือสร้างประสบการณ์ชอปปิงแบบที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องออกจากโซเชียลมีเดียนั้นๆ เพื่อไปซื้อสินค้า เพราะแค่คลิกไม่กี่ครั้งก็สามารถเลือกดูสิ่งที่อยากได้บนแพลทฟอร์มโซเชียล แล้วเลือกวิธีชำระเงิน เพื่อซื้อของได้เลย ซึ่งให้ทั้งความสะดวก-รวดเร็ว แถมยังสามารถลดกระบวนการขายลงได้เกือบครึ่ง
นอกจากนั้น Stories ยังเป็นช่องทางการตลาดได้ จากเดิมที่ Stories มีแค่บน Snapchat แต่ปัจจุบันทั้งอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และแม้แต่ยูทูบก็มี stories ในรูปแบบของตัวเอง ที่เปิดโอกาสให้คนดูได้เห็นอะไรแบบ”จริงๆ” เพราะมักเป็นการบันทึกวิดีโอแบบสดๆ
คอนเทนต์ที่เป็น Stories มักหายไปจากหน้าจอภายในเวลาอันสั้น ดังนั้นนักการตลาดจึงต้องรีบยื่นข้อเสนอขายสินค้า-บริการให้แก่บรรดายูสเซอร์ตัวจริงเสียงจริง ที่ติดตามช่องทางเฉพาะนี้อยู่ และเมื่อยูสเซอร์คนอื่นทราบข่าวว่ามีการเสนอขายที่น่าสนใจในช่องทางนี้ ก็จะเข้ามาคอยติดตาม ถือเป็นการได้ลูกค้าใหม่โดยไม่ต้องเสียเงินโฆษณา
นอกจากนั้น Stories ยังสามารถใช้เป็นช่องทางเพิ่มการมีส่วนร่วม อย่างสำรวจความเห็นบน Stories หรือถามคำถามแล้วให้ตัวเลือกที่แค่กดคลิกก็ร่วมสนุกได้
และแน่นอนว่าในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีนั้น Augmented Reality (AR) หรือการผสานโลกเสมือนเข้าไปในโลกจริง ก็พัฒนาขึ้นตามไปด้วย และมีการนำมาใช้ด้านอีคอมเมิร์ซ อย่างอิเกียที่มีแอป AR เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้เห็นว่าเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้น เมื่อเข้าไปอยู่ในบ้านของคนซื้อแล้วจะดูเข้ากันมั้ย
เทคโนโลยี AR นับว่ามีศักยภาพมาก อย่างนายหน้าสามารถพาคนที่สนใจอยากซื้อบ้าน ไปดูบ้านเสมือนจริงได้ โดยสามารถเลือกเปลี่ยนสีทาบ้านว่าชอบสีไหน หรืออาจปรับผนังบางส่วนออก ขณะที่บริษัทเครื่องสำอางอาจนำเสนอให้ลูกค้าลองผลิตภัณฑ์ตอนพักเที่ยง หรือที่ไหนก็ได้ที่มีมือถืออยู่ด้วย
อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาท คือแชทบอท ซึ่งเดิมตอบคำถามได้จำกัดตามที่แบรนด์ต่างๆ เขียนคำสั่งไว้ว่าลูกค้าน่าจะถามอย่างนี้ แต่อัลกอริธึ่มกำลังปรับปรุงประสิทธิภาพของแชทบอท ทำให้แบรนด์ต่างๆ ไม่ต้องเตรียมทุกคำตอบไว้ให้ เพราะแชทบอทสามารถค้นหาคำตอบบางส่วนจากเว็บได้ ทั้งยังสามารถสนทนากับหลายคนได้ในเวลาเดียวกัน
ปี 2563 แชทบอทจะยิ่งอัจฉริยะมากขึ้น และสามารถให้บริการลูกค้าได้มากขึ้น ขณะที่แบรนด์ต่างๆ ก็จะพึ่งพาแชทบอทมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการให้บริการลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง แน่นอนว่าบอทไม่สามารถตอบได้ทุกคำถาม แต่ก็ช่วยพนักงานได้มากในส่วนของการตอบคำถามพื้นๆ
เหล่านี้เป็นภาพรวมของเทรนด์ ที่คาดว่าจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต