ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กนง.ปรับลดอัตราขยายตัวจีดีพีประเทศเหลือ 2.8% เดิมคาดไว้ 3.3% เป็นผลมาจากภาวะสงครามการค้ากระทบภาคการส่งออก แต่ยังมีนโยบายกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐผยุงเศรษฐกิจไทย ชี้ยังไม่เข้าสู่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นเพียงการชะลอตัวตามรอบเศรษฐกิจโลก
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการปรับลดประมาณการจีดีพีประเทศหลังประชุมรอบล่าสุดลงมาอยู่ที่ 2.8% (เดิม 3.3%) เนื่องจากภาวะสงครามการค้าที่ได้ประเมินไว้ครั้งก่อนคาดว่าจะจบลงในช่วงปลายปี 62 แต่ปรากฏว่ามีท่าทียืดเยื้อออกไปในระยะยาว ทำให้กระทบกับรายได้ของภาคการส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ
นอกจากนี้ ในแต่ละอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มชะลอการจ้างงานลงด้วย ซึ่งจะกระทบไปถึงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนอีกด้วย โดยปัจจัยทั้งหมดจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ต่ำกว่าคาดการณ์อยู่ที่ระดับ 2.8% ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 4.1% แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลพยายามกู้วิกฤติด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ทำให้การบริโภคในประเทศยังมีแนวโน้มเติบโต จึงเป็นปัจจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการเติบโตชะลอลงของเศรษฐกิจไทย ปัจจัยหลักมาจากภาวะสงครามการค้าที่กระทบกับการส่งออก
ด้าน กนง. ยังประเมินว่าเงินบาทจะยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่องต่อไป เนื่องจากประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนต่างประเทศกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยตรงมากขึ้น ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศในภูมิภาค แต่ในระยะกลางและสั้นค่าเงินบาทก็ยังมีแนวโน้มผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ไม่สามารถควบคุมได้
อย่างไรก็ตาม ธปท. พร้อมจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินทันทีหากสถานการณ์เปลี่ยนไปจากเดิม โดยจะเน้นการยกระดับโครงสร้างที่ทำให้ธุรกิจไทยสามารถยกระดับอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันบางอุตสาหกรรมของประเทศไทยสามารถเพิ่มตลาดในต่างประเทศได้ หรือบางสินค้าสามารถตั้งราคาขายเป็นเงินบาทได้บ้างแล้ว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับโครงสร้างธุรกิจไทยที่ดี
ทั้งนี้ ธปท. มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยจะไม่เน้นให้ความช่วยเหลือแบบระยะสั้นที่ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ทันยุคสมัย เนื่องจากไม่ช่แนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน