ในช่วงโควิด-19 เป็นช่วงที่หลายคนต้องพึ่งเงินฝากเงินออม นำออกมาใช้ในยามรายได้ขาดหายไป ไม่ว่าจะเพราะจากตกงาน รายได้ลด ชั่วโมงการทำงานลดลง แต่ยังมีภาระหนี้อยู่ ทำให้ต้องนำเงินที่เก็บหอมรอมริบออกมาประทังชีวิตไปวัน ๆ ก่อน เพื่อรอวันที่เศรษฐกิจจะฟื้น กลับมาทำมาหากินได้เหมือนเดิม
โดยส่วนใหญ่การออมเงินของคนไทยในปัจจุบัน คิดว่ามีการออมเงินผ่านบัญชีเงินฝากจากธนาคารต่าง ๆ เท่านั้น ซึ่งถือว่าง่าย สะดวก และปลอดภัย ข้อดีคือ บัญชีเงินฝากในปัจจุบันมีโมบายแบงก์กิ้ง แอปพลิเคชั่น ให้ใช้บริการ สามารถเป็นช่องทางหลักในช่วงโควิด-19ที่ต้องการหลีกเลี่ยงพบปะ เดินทางมาสาขา หรือหยิบจับเงินสด ซึ่งโมบายแบงก์กิ้งใช้ทดแทนในกรณีโอนเงิน ชำระเงิน จ่ายบิลได้อย่างง่ายดายไม่กี่วินาทีเท่านั้น
แต่ข้อเสียคือ บัญชีเงินฝากในตอนนี้อัตราผลตอบแทนด้านดอกเบี้ยถูกแสนถูก เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ลดต่ำลงเหลือ 0.5% ต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากลดต่ำลงด้วย เพื่อบริหารต้นทุนให้เกิดการสมดุลระหว่างขาเงินกู้และเงินฝาก
แต่รู้หรือไม่ว่า..ยังมีการออมเงินอีกมากที่มีลักษณะใกล้เคียงกับบัญชีเงินฝาก โดยผ่านการลงทุนผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารหรือผู้ให้บริการทางการเงินอื่นได้ออกมาเพื่อแลกกับการระดมเงิน หรือต้องการดำเนินตามแผนธุรกิจที่ได้วางเอาไว้ แต่ในช่วงที่ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นที่อาจให้ผลตอบแทนสูงกว่า อย่างเช่น สลากออมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารของรัฐ 3 แห่งที่ให้บริการ ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน , ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)
หากใครสนใจ สลากออมทรัพย์ ที่ได้ดอกเบี้ยแล้ว ยังลุ้นรางวัลใหญ่เป็นหลักล้านบาทเลยก็มี โดยสามารถเข้าตรวจสอบรุ่นของสลากออมทรัพย์ได้ที่ 3 เว็บไซต์ของธนาคารทั้ง 3 แห่งได้ เพื่อตรวจเช็กวัน เวลา ในการจำหน่าย ราคาต่อหน่วย ดอกเบี้ย หรือแม้กระทั่งรางวัลจูงใจในการลงทุนกับการออม
นอกจากนี้ยังมีประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งในปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมสำหรับคนมีกำลังทรัพย์ และมักได้ยินบ่อย ๆ กับการซื้อประกันชีวิต พร้อมได้ลงทุนเพื่อออมเงินได้ด้วย โดยการจ่ายเบี้ยประกันมีทั้งแบบรายปี รายไตรมาส และรายเดือน ซึ่งมีความแตกต่างกันในราคาเบี้ย ทำให้อาจต้องพิจารณาจากเงื่อนไขของแต่ละรูปแบบว่า รูปแบบไหนเหมาะกับเรามากที่สุด และดูคุ้มค่ามากที่สุด
ตัวอย่าง ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เช่น ประกัน 15/6 โดยผู้เอาประกันจะจ่ายเบี้ยประกันแค่ 6 ปี แต่ได้รับความคุ้มครองถึง 15 ปี แถมยังสามารถนำเบี้ยที่ซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นี้มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ด้วย
อีกหนึ่งช่องทางออมเงิน คือ การลงทุนจากกองทุนรวม เป็นการระดมทุนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน และนำเงินส่วนนี้จากนักลงทุนไปลงทุนต่อในหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินประเภทต่างๆ เพื่อให้ได้อัตราผลตอนแทนกับนักลงทุน ซึ่งข้อสำคัญ! นักลงทุนอย่าลืมที่จะอ่านเงื่อนไขการลงทุน จากหนังสือชี้ชวนเสนอขายแก่ผู้ลงทุนให้ดี
การลงทุนผ่านกองทุนรวม ผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อลงทุน อาจลงทุนเป็นก้อน หรือเลือกลงทุนเป็นประจำในแต่ละเดือนก็ได้ โดยเงินลงทุนกองทุนรวม ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะนำไปลงทุนต่อยอดอื่น ๆ เช่น ลงทุนในหุ้นสามัญ หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ และตราสารทุน เป็นต้น ซึ่งเป็นผลดี เพราะการที่เราจะลงทุนในหุ้น หรือตราสารอื่น อาจต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่หากลงทุนผ่านกองทุนรวม แค่เริ่มต้น 1,000-2,000 บาทก็มีให้เห็นแล้ว
ฉะนั้นแล้ว..ใครจะเลือกลงทุนรูปแบบใด จะต้องยอมรับความเสี่ยงนั้นได้ด้วย เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ และการลงทุนนั้น..ควรเป็นเงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว ซึ่งไม่รู้จะนำไปลงทุนหรือเก็บออมอย่างไรดี เพื่อให้เงินทำงาน ต่อยอดให้ผลตอบแทนเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นไป ที่สำคัญอย่าลืมความเสี่ยง !! อะไรที่ให้ผลตอบแทนสูง มักจะเสี่ยงสูงตามไปด้วย