SCG ใช้ Blockchain มาลดระยะเวลา”จัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงิน”ได้ครึ่งหนึ่ง ทำให้”ซัพพลายเออร์”ขึ้นเงินง่ายขึ้น ส่งของแม่นยำและตรวจสอบได้ พร้อทั้งสามารถต้นทุนด้านการตรวจสอบสินค้า-บัญชี นำคนไปพัฒนาศักยภาพด้านอื่น
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน เอสซีจี เปิดเผยผลสำเร็จในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงิน โดยในช่วงเวลา 1 ปีที่มีการดำเนินการสามารถลดต้นทุนและทำให้การดำเนินงานคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา SCG สามารถลดระยะเวลาในการดำเนินงานจัดซื้อไปจนถึงการชำระเงินได้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ค้าเข้ามาอยู่ในระบบบล็อกเชนของ SCG ถึง 240 ราย แล้วตั้งเป้าว่าภายในปีหน้าจะสามารถเพิ่มขึ้นเป็น 2,400 รายได้
สำหรับเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ SCG นำมาใช้เป็นการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างวางบิลและชำระเงิน ซึ่ง SCG เรียกว่า B2B (Blockchain Solutions for Procure-to-pay) ซึ่งที่ผ่านมา SCG จำเป็นต้องใช้พนักงานจำนวนมากและสูญเสียเวลาไปกับการส่งเอกสารและตรวจสอบโดยบุคคลเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้จึงทำให้ทั้ง SCG และ ซัพพลายเออร์ สามารถลดได้ทั้งระยะเวลาในการส่งเอกสารการตรวจสอบความถูกต้องของสินค้า และผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มที่ SCG พัฒนาขึ้น
สำหรับกลุ่มบริษัทซัพพลายเออร์ของ SCG ที่เข้าร่วมโครงการในช่วงแรกมีเพียง 10 ราย และขยายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแฟลตฟอร์มนี้ SCG เริ่มจากบริษัทที่มีการซื้อขายในระดับหมื่นล้านบาทขึ้นไปหรือบริษัทที่มีการวางบิล 1,600 ใบต่อวัน
หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ก็คือบริษัทที่อยู่ติด 100 อันดับแรกในการซื้อขาย ซึ่งหากบริษัทใดที่มีระบบหลังบ้านของการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงินแล้ว ก็สามารถเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ SCG นำมาใช้ได้ ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถลดต้นทุนในส่วนของตนเองได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย

ทั้งนี้สำหรับแพลตฟอร์มที่ SCG มีการใช้และพัฒนาอยู่ปัจจุบันยังคงเป็นการนำเอาตรรกะของคนมาให้เครื่องจักคิด แต่ในอนาคตจะมีการพัฒนาในส่วนของปัญญาประดิษฐ์และแมชชีนเลิร์นนิ่งเพื่อให้ แพลตฟอร์มนี้สามารถพัฒนาก้าวเข้าไปในอีกระดับหนึ่งได้ จากการใช้งานพบว่าแพลตฟอร์มดังกล่าว ลดระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงิน ได้กว่าร้อยละ 50 เหลือเฉลี่ย 35 นาที จาก 70 นาทีต่อรายการ
นายธรรมศักดิ์ ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีบริษัทใดเข้ามาเชื่อมต่อระบบหลังบ้านเข้ากับแพลตฟอร์มที่ SCG พัฒนาขึ้นแต่ก็พร้อมที่จะ บูรณาการกับบริษัทพันธมิตรเหล่านี้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ SCG จำเป็นต้องพัฒนาแพลตฟอร์มที่เข้ามาลดระยะเวลาในการออกใบสั่งซื้อออกใบแจ้งหนี้และออกเช็ค เพื่อลดความผิดพลาดของคนตรวจสอบและสามารถที่จะทำให้ผู้ประกอบการรับเงินได้เร็วขึ้น เมื่อพนักงานของ SCG ไม่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารมากมายจนเป็นงานรูทีน ก็สามารถที่จะนำเวลาเหล่านั้นไปพัฒนาศักยภาพทางด้านอื่นๆได้ สำหรับในปี 2562 นี้ จะยังคงอยู่ที่กลุ่มซัพพลายเออร์ก่อน และจะขยายไปยังธุรกิจพันธมิตรอื่นๆเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้มองว่าการประกอบธุรกิจในยุคดิจิตอลการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพถือเป็นเรื่องสำคัญ การทดลองและลงทุนในเรื่องใหม่ๆผู้ประกอบการรายย่อยอาจมีความเสี่ยงในการล้มเหลว ดังนั้น SCG จึงพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดซื้อจัดจ้างและวางบิลให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง SCG ยังมีการเพิ่มความรู้ในการใช้แพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถก้าวทันตามเทคโนโลยีที่ SCG นำมาใช้
ดังนั้นหากจะก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลผู้ประกอบการก็ต้องมองรูปแบบการบริหารจัดการแบบใหม่มากยิ่งขึ้นและต้องปรับตัวอยู่เสมอรวมถึงต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วและนำพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
แต่ในขณะนี้แพลตฟอร์มที่ SCG พัฒนาขึ้นยังไม่อยู่ในแผนที่จะกระจายไปสู่ประเทศอื่นๆเนื่องจากข้อกฎหมายและอัตราภาษีที่ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศแต่คาดว่าแปลกปลอมนี้ยังไงก็จะถูกพัฒนาไปสู่ต่างประเทศอย่างแน่นอนโดยส่วนตัวมองว่าจะรอ เริ่มที่กลุ่มประเทศอาเซียนก่อนซึ่งเมื่อเทคโนโลยีมีความพร้อมแล้วสิ่งที่น่าเป็นกังวลคือกฎหมายจะมีความพร้อมและเปลี่ยนแปลงทันต่อเทคโนโลยีหรือไม่

นายธรรมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาระบบต่าง ๆ นั้น SCG จะดำเนินการด้วยความระมัดระวังเพื่อให้มั่นใจว่าระบบจะมีความปลอดภัย สามารถป้องกันความเสี่ยงด้านการทุจริต คงความน่าเชื่อถือของข้อมูล และความแข็งแรงของระบบ
แพลตฟอร์ม B2P นี้ ได้รับการพัฒนาบนเทคโนโลยี R3 Corda for Enterprise ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่มีประสิทธิภาพ จึงช่วยสร้างความมั่นใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี แม้การนำเทคโนโลยี Blockchain หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความถูกต้องแม่นยำในการดำเนินธุรกิจได้ แต่ทุกองค์กรควรคำนึงถึงการใช้งานที่ช่วยทำให้ข้อมูลเกิดความน่าเชื่อถือ โดยองค์กรที่พึ่งเริ่มต้นนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ ก็อาจทดลองกับอีโคซิสเทมที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะคู่ธุรกิจที่มีความรู้และความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีนั้น ๆ เป็นอย่างดี เพื่อให้คนในองค์กรสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่สิ่งสำคัญคือต้องคิดและเริ่มต้นให้เร็ว เพราะยิ่งองค์กรก้าวได้เร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งได้ประโยชน์ในยุคที่เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากองค์กรใดต้องการเริ่มต้นใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม B2P เอสซีจีก็ยินดีที่จะแบ่งปันองค์ความรู้ให้กับองค์กรต่าง ๆ ที่สนใจได้เช่นกัน