- GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 2.3% ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส ส่งผลให้สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยเหลือ 2.7-3.2%
- สงครามการค้ากดดัน ส่งผลให้ส่งออกหดตัว 2.7% จากตลาดส่งออกสำคัญหดตัว จีน -5.5% อาเซียน -4% ยุโรป -2.7%
- เศรษฐกิจโลกชะลอตัวยังเป็นปัจจัยเสี่ยง จากปัญหาจีน-สหรัฐ รวมถึง ปัญหา Brexit และเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกง ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง
- รมว.คลัง มั่นใจปีนี้ยังโตได้ 3% เชื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหนุน GDP ได้ 0.55%
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 62 เหลือเติบโต 2.7-3.2% จากเดิมที่ก่อนหน้านี้คาดไว้ 3.3-3.8% หลังครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 2.6% ส่วนปี 63 คาดเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วง 3.0-4.0%
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/62 ขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส โดยขยายตัว 2.3% แต่เชื่อว่าเป็นการขยายตัวต่ำสุดในปีนี้แล้ว และจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากผลของการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ งด้านการคลัง การท่องเที่ยว การลงทุน ซึ่งจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 2.7-3.2%
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า ในเดือนก.ย.นี้ ธปท.จะพิจารณาปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 62 ลงอีก เนื่องจากบรรยากาศการกีดดันทางการค้าที่ยังรุนแรงและยืดเยื้อกระทบต่อภาคการส่งออก จากเมื่อเดือนมิ.ย.ได้ปรับคาดการณ์ GDP ของปี 62 ลงมาที่ 3.3% จากต้นปีเดิมคาดโต 3.8%
โดยสถานการณ์ต่างประเทศส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จากต้นปีที่คาดว่าจะโต 3.8% จากการส่งออกมีทิศทางชะลอลงมาก เนื่องจากผลกระทบสงครามทางการค้ายังไม่มีท่าทีผ่อนคลาย แตกต่างจากสมมุติฐานเดิมของ ธปท. เมื่อเดือน มิ.ย. ที่คาดว่าข้อตกลงทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐจะมีข้อยุติ
สงครามการค้า กดส่งออกไทย
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าประเด็นสงครามการค้ามีผลต่อการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ส่งผลให้การส่งออกของไทยและหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้สินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะที่ใช้วัตถุดิบในประเทศในการผลิต เช่น สินค้าเกษตรแปรรูป มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกที่ลดทอนลงไป อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายครัวเรือนยังสามารถเป็นแรงหนุนต่อเศรษฐกิจได้แม้ว่าจะชะลอตัวลงบ้างก็ตาม
ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ระบุว่า สถานการณ์ที่มีแรงกดดันจากปัจจัยต่างประเทศเรื่องสงครามการค้า ส่งผลให้การส่งออกของไทยในปีนี้ โดยสถานการณ์ส่งออกตอนนี้หดตัว 2.7% จากตลาดส่งออกสำคัญหดตัว โดยตลาดจีน -5.5% อาเซียน -4% ยุโรป -2.7% ในขณะที่สินค้าสำคัญก็หดตัวเช่นเดียวกัน
สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศ ทั้งเศรษฐกิจหลักที่เป็นคู่ค้าชะลอตัวมากขึ้น และแรงกดดันสงครามการค้าที่ต้องลุ้นผลการเจรจาในแต่ละรอบ รวมทั้งหากสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนที่อัตรา 25% จากทุกประเทศ (มาตรา 232) ในเดือนพฤศจิกายนจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกยานยนต์ทั่วโลก ซึ่งของไทยคิดเป็น 11% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด
ขณะที่ IMF ปรับประมาณการการค้าโลกลงจาก 3.4% เหลือเพียง 2.5% นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทเป็นอีกปัจจัยที่มีส่วนทำให้ยังคงไม่เห็นการฟื้นตัวของการส่งออกได้เร็วในปีนี้
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังเสี่ยง
สภาพัฒน์ฯ ระบุว่าปัจจัยเสี่ยงที่ยังกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ยูโรโซน, จีน และญี่ปุ่น ประกอบกับความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ตลอดจนความเสี่ยงจากกรณีที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ การผ่อนคลายนโยบายการเงินและการลดค่าเงินของประเทศสำคัญต่างๆ และความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง
สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่มองว่าทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน Brexit และเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกง ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววัน ต่างเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกทั้งปีนี้ และอาจต่อเนื่องไปยังปีหน้า ซึ่งภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อเป็นการประคองสถานการณ์เฉพาะหน้าในกรณีที่สถานการณ์ภายนอกประเทศเกิดเหตุบานปลายและเลวร้ายลง ภาครัฐอาจต้องเตรียมมาตรการทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมไว้เพื่อรับมือ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ธุรกิจไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ทำให้ต้องมีการปรับลดการจ้างงาน ซึ่งผลกระทบจะขยายวงกว้างไปยังภาพรวมรายได้ กำลังซื้อของครัวเรือน และส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในที่สุด
คลัง มั่นใจปีนี้ยังโตได้ 3% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/62 เป็นไปตามคาดการณ์ไม่ได้ต่ำกว่าคาดหมาย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกผันผวนสูง แต่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกินวงเงิน 3.16 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มได้ 0.55% ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะเริ่มใช้ได้ปลายเดือนส.ค.-ก.ย.62
รมว.คลัง มั่นใจว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยใช้เงินงบกลางไม่ถึง 5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐราว 207,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินกองทุนต่างๆ 5 หมื่นล้านบาท จะดันเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่ต่ำกว่า 3%