จับตาเกณฑ์วัดสาธารณสุข หลังนายกฯให้สาธารณสุขประเมิน ก่อนผ่อนคลายมาตรการ “ล็อคดาวน์” ให้ทุกหน่วยงานพิจารณามาตรการผ่อนคลายคุมโควิด-19
จากกระแสเรียกร้องมากขึ้นให้เกิดการผ่อนคลายมาตรการ “ล็อคดาวน์”ของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยมีการพิจารณาถึงการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะผ่อนมาตรการลงได้เมื่อไร แต่พรก.ฉุกเฉินจะหมดเวลาการบังคับใช้สิ้นเดือนเม.ย.นี้
แต่ท่าทีของนายกรัฐมนตรีทำให้ชัดเจนขึ้นว่าว่าจะติดตามได้ตรงไหน ว่าเมื่อไรจะ “ปลดล็อค”
นายกรัฐมนตรี บอกว่า “ขอให้พิจารณาแนวทางและข้อกำหนดให้สอดรับกับมาตรการด้านสาธารณสุข หากสถานการณ์ดีขึ้นตามหลักเกณฑ์จะมีการผ่อนปรนในส่วนใดได้บ้าง”
“ในภาพรวมให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ ศึกษาทางสถิติ พิจารณาว่ากิจกรรมประเภทใดบ้างที่ผ่อนปรนได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพบางประเภทได้ ให้ประชาชนมีรายได้ เช่น การเปิดตลาดสด แต่สถานบันเทิงให้งดไว้ก่อน”
นายกฯให้ทุกหน่วยงานภายใต้การดูแลของหน่วยงานตนเองพิจารณาหากมีมาตรการผ่อนคลายจะต้องดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร รวมทั้งพิจารณามาตรการตรวจสอบ การคัดกรอง ให้เหมาะสม การดำเนินการทุกอย่างให้ยังคงเป็นไปตามหลักการ Social Distancing สำหรับมาตรการ Work From Home ที่ยังต้องใช้จะปรับอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่พัฒนาดีขึ้น
นายกรัฐมนตรีได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเกี่ยวกับการตรวจเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อ ให้เพิ่มการตรวจให้เข้มข้นในกลุ่มเสี่ยง ทำการสำรวจกลุ่มคนทำงานที่พบเจอคนจำนวนมาก เช่น แม่ค้า กลุ่มคนที่เคยตรวจไปแล้ว อาจพิจารณาตรวจอีกรอบเพื่อให้มั่นใจ ตลอดจนพิจารณาการสุ่มตรวจแรงงาน
ทั้งนี้ ให้สาธารณสุขชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าการวิจัย ให้ประชาชนทราบ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการ Re-use หน้ากาก N95
จากท่าทีของศบค. ทำให้ต้องไปติดตามมาตรการสาธารณสุขที่ว่าจะปลดล็อคได้เมื่อไร โดยกระทรวงสาธารณสุขยึดตามองค์การอนามัยโลก(WHO) ดังนี้
1.สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในประเทศได้แล้ว
2.ระบบสุขภาพต้องสามารถตรวจหาผู้มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษา พร้อมทั้งการสอบสวนโรค
3.มีความเสี่ยงระดับน้อยที่สุด ในสถานที่เสี่ยงภัยมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา
4. โรงเรียน สำนักงานและสถานที่สาธารณสุขต่างๆต้องมีมาตรการตรวจโรคที่มีประสิทธิภาพ
5.สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศได้
6. คนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการเกิดโรค
จากการฟังคำชี้แจงของกระทรวงสาธารณสุข ในข้อแรกดูเหมือนมีแนวโน้มที่ดี แต่ที่ยัง “หนักใจ” และเป็น “งานหนัก”อยู่ในขณะนี้ คือ ข้อที่ 2 กับข้อที่ 6
อาจจเป็นไปได้ว่าในเร็วนี้จะมีการ “ปลดล็อค”บางพื้นที่ แต่ในพื้นที่ยังพบผู้ป่วยหนาแน่น ยังคงต้องเข้มงวดต่อไป