นักวิชาการเชื่อ “ควบรวม CAT-TOT” เพื่อเข้าประมูลไม่กระทบตลาดโทรคม แต่หวั่นควบรวมแล้วก็ยังแข่งขันไม่ได้ ชี้เลื่อนประมูล 5G อีก 1 ปีไม่สาย
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า เรื่องควบรวมคือ การจัดโครงสร้างองค์กร ถ้ามองมุมการบริหารจัดการภาคเอกชน มันจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์องค์กรก่อนโครงสร้าง ที่จริงแล้วถ้าจะกำหนดยุทธศาสตร์ในการแข่งขันที่ดี มันจะต้องยุทธศาสตร์ต้องมาก่อน และโครงสร้างแบบไหนที่เหมาะกับยุทธศาสตร์ เรื่อง 5G เป็นจิกซอว์ตัวหนึ่ง ไม่ควรเอาเรื่องในเชิงแทคติกมากำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว เอาเรื่องระยะสั้นมากำหนดเรื่องระยะยาวมันก็ผิด มันต้องเรื่องระยะยาวเป็นตัวตั้งก่อน เป็นปกติที่ภาครัฐมักมีแนวโน้วคิดกันแบบนี้
“เราไม่เคยได้ยินว่ารัฐบาลจะมียุทธศาสตร์อย่างไรในการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง โดยเฉพาะทำอย่างไรให้แข่งขันได้และไม่ขาดทุน”
แต่ว่าการควบรวมกลายเป็นว่ายังไม่รู้ว่ายุทธศาสตร์ คือ อะไร แล้วกระโดดไปเรื่องควบรวม คล้าย ๆ กับมีความเชื่อว่ามันมีการดำเนินการซ้ำซ้อนกันระหว่างรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ซึ่งเรื่องแบบนี้ได้ยินมานานมาก ซึ่งการจะแก้ปัญหาการดำเนินงานซ้ำซ้อนมันมีได้หลายวิธีมาก กระทรวงดีอี ในฐานะที่เป็นคนดูแลรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง ก็ดูแลไม่ให้มีการซ้ำซ้อนก็ได้ มันมีได้หลายวิธี ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการควบรวมเสมอไป
การควบรวม CAT-TOT ต้องคิดดี ๆ ว่าควบรวมแล้วจะแก้โจทย์อะไร เดาว่าป้องกันการลงทุนซ้ำซ้อน ซึ่งมีกลไกการป้องกันการลงทุนซ้ำซ้อน เช่น รัฐวิสาหกิจจะลงทุน ต้องขออนุญาตครม. ซึ่งถ้า CAT ลงแล้ว TOT ก็อย่าลง ซึ่งแบบนี้ก็ไม่ต้องควบรวมก็สามารถป้องกันการลงทุนซ้ำซ้อนได้
ปัญหา CAT กับ TOT คืออะไร คือ แข่งขันไม่ได้ในตลาด ขาดทุนกันอยู่ อันนี้คือข้อเท็จจริง การควบรวม คือ การเอาเตี้ยไปอุ้มค่อม แล้วจะทำให้แข่งขันได้ไหม เพราะว่าสมัยนี้ไม่ได้แข่งขันด้วยขนาด แต่แข่งขันด้วยความเร็ว เอาเตี้ยไปอุ้มค่อม องค์กรจะตีกัน เอาแค่รวมบอร์ด จาก 2 บอร์ดเหลือเบอร์ดเดียว แล้วใครจะเป็น CEO
“ให้เวลาในการ perform หากแก้ไม่ได้ ทำขาดทุน ควรยุบ รัฐวิสาหกิจทั้งหมดเลย รวมทั้งการบินไทยด้วย ถ้าไม่สามารถตอบโจทย์ได้และเป็นภาระกับประชาชนผู้เสียภาษี ไม่ให้เป็นภาระของประเทศและประชาชน อย่าง CAT-TOT ถ้ายุบไป แล้วใครเดือดร้อน ถ้าคำตอบ คือ ไม่ แล้วจะมีไปเพื่ออะไร”
การควบรวม สิ่งที่จะตามมา คือ รัฐวิสาหกิจมีคนเยอะทั้งสิ้น เป็นหลักหมื่นกันทั้งคู่ รวมกันแล้วจะเป็นองค์กรที่ใหญ่มาก ซึ่งปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ตัวที่กำหนดความสามารถในการแข่งขันไม่ใช่เรื่องขนาด หรือ economy of scale แบบเดิม แต่มันเป็นเรื่องของ economy of speed
องค์กรขนาดใหญ่เวลาจะดำเนินทางธุรกิจจะล่าช้า ซึ่งเป็นการควบรวมขององค์กรขนาดใหญ่จะยิ่งใหญ่เข้าไป ยังไม่นับเรื่องวัฒนธรรมองค์กร เมื่อมีความรวมกันจะมีความขัดแย้งกัน
ผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง (จากการควบรวม) ก็คงเกิดการกระเพื่อมขึ้นพักหนึ่งกว่าที่จะลงตัว ถ้าสามารถลงตัวได้เร็วก็จะเป็นประโยชน์ แต่ต้องมีความสามารถในการบริหารองค์กรที่ใหญ่มากให้ได้ อันนั้นก็เป็นความท้าทาย
“เรียนตามตรงว่าเป็นห่วงว่าการตัดสินใจจะควบรวม คิดรอบคอบดีแล้วหรือยัง และเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาอีกเยอะมากกว่าจะทำให้องค์กรใหม่ให้มันวิ่งได้ ซึ่งในระหว่างที่ควบรวมกัน ความสนใจของผู้บริหารและพันกงานถูกดึงความสนใจไปจากการดำเนินธุรกิจเพื่อที่จะแข่งขันให้ได้ภายในตลาด เป็นเรื่องมองภายในองค์กร เรื่องควบรวมแล้วเราจะไปอยู่ตำแหน่งอะไร ใครจะมาเป็นนายเรา”
นอกจากนี้ ดร.สมเกียรติ กล่วว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ มีการควบรวม CAT-TOT แต่สุดท้ายต้องไปดูว่ารัฐวิสาหกิจ 2 แห่งนี้เอาตัวรอดได้หรือไม่ มีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจด้วยตัวเองหรือไม่ ต้องเอาภาษีประชาชนมาอุ้มหรือไม่ ต้องประเมินผลกันแบบนี้
“สมมติว่า CAT-TOT ได้คลื่นไป 60 MHz ลูกค้ามีนิดเดียวจะใช้คลื่นให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร ในส่วนของเอกชนทั้ง 3 รายก็เช่นกัน การที่ได้คลื่น 5G ไปตอนนี้ โอกาสที่จะใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมีไม่มาก เพราะว่าไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้อะไรที่ทำเงินได้ ถ้าเอามาใช้เหมือน 4G คำถามคือ จะประมูล 5G ไปทำไม คลื่น 4G มันเต็มแล้วหรอ ซึ่งมันไม่ใช้ ถ้าจะเอามาใช้ต้องเป็นบริการ 5G แล้ว 5G มี use case แล้วหรือว่าจะเอามาทำบริการอะไร และจะเก็บเงินขนาดไหนถึงจะมีคนยอมจ่าย มันมีคำถามเยอะแยะมากมาย ที่ไม่มีคำตอบ ที่ไม่มีคำตอบก็เพราะว่าเร่งรัดการประมูลเร็วเกินไปและยังไม่พร้อม อุปกรณ์ก็จะแพง”
ในขณะที่สืบศักดิ์ สืบภักดี ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ รองเลขาธิการและประธานคณะทำงานส่งเสริมนวัตกรรมล้ำสมัย สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ความคิดที่จะควบรวม CAT-TOT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมของรัฐมีมานานแล้วมในหลายชุดรัฐบาล ประเด็นการควบรวมเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเพราะว่าถ้าไม่ควบรวมกัน 2 รัฐวิสาหกิจนี้จะมีความเสี่ยง และอยู่ไม่ได้ เดิมทีรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งประกอบธุรกิจ ลักษณะผูกขาด เพราะฉะนั้นในอดีตมันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องควบรวม
จากเดิมที่เคยผูกขาดเริ่มมีการแข่งขัน เป็นจุดเริ่มต้นที่มีคู่แข่งไปเอกชน เอกชนเริ่มเข้ามาแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดไป และทำให้รัฐวิสาหกิจที่เคยผูกขาด และปรับตัวไม่ทันต่อสภาพการตลาดที่มีการแข่งขัน ก็เริ่มมีคนเห็นว่า ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ในอนาคต 2 รัฐวิสาหกิจจะอยู่ไม่ได้ จึงให้มารวมกันและไปแข่งกับเอกชน
“ผมมองว่าการควบรวมในวันนี้ก็ยังคงไม่สายเกินไป แต่ก็มีความยาก เพราะถ้าดูสินทรัพย์ของ CAT และ TOT มีสินทรัพย์ระดับ 1 แสนล้านทั้งสองค่าย เมื่อควบรวมกันคนก็จะมองว่า มีสินทรัพย์ ระดับ 3-4 แสนล้านทันที”
ถ้ามองในแง่ดี การควบรวมนี้อาจจะเป็นวิธีการควบรวมของ 2 รัฐวิสาหกิจที่เป็นของรัฐอยู่แล้ว แต่อยากให้คิดถึงวิธีการบริหารจัดการ โมเดลธุรกิจใหม่ การบริหารธุรกิจใหม่อะไรที่ลดต้นทุนได้ต้องลดต้นทุน และแทนที่จะเป็นบริษัทตั้งใหม่ ที่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์
ผลกระทบด้านลบ คือ หน่วยงานที่มีบุคลากรจำนวนมาก มีสินทรัพย์ที่มีประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีเทคโนโลยีที่ตกรุ่น ก็ต้องเข้ามาสะสางเหมือนกัน และไม่ได้เป็นเรื่องง่าย
“ผมเชื่อว่าหลังจากที่ CAT-TOT ควบรวมและสะสาง โครงสร้างพื้นฐานให้เรียบร้อย ปรับกระบวนการบริหาร เรื่องบุคลากรและจัดการเรื่องเทคโนโลยี สุดท้ายแล้วจะไม่ได้แข่งกับเอกชน แต่ถ้าอยากจะมีที่ยืนในตลาดคมนาคมหลังจากนี้จะต้องหาพันธมิตร ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ในตลาด ทั้ง AIS dtac หรือ true ซึ่งแต่ละเอกชนก็มีความแข็งแกร่งที่แตกต่างกัน”
“CAT และ TOT ต่างมีทรัพยากรเยอะ มีบุคลากรเยอะ เรียกว่าเยอะเกินไป เป็นองค์กรที่ไม่คล่องตัว”
การ “ควบรวม CAT-TOT” ไม่กระทบตลาด:
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การควบรวมของ CAT-TOT ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาด ไม่ค่อยมาก เพราะว่า TOT และ CAT เป็นผู้เล่นรายเล็กในตลาดโทรคมนาคม โดยเฉพาะตลาดมือถือ รายใหญ่ 3 รายทิ้งเบอร์ 4 เบอร์ 5 อย่าง CAT กับ TOT ไปไกลมาก เพราะฉะนั้น ควบรวมไปไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างตลาดใดใด ไม่ได้ทำให้เกิดการผูกขาดในตลาด ถ้าเบอร์ 1 เบอร์ 2 ควบรวมกัน เช่น AIS กับ True ควบรวมกัน มันจะมีผลต่อโครงสร้างตลาด มีผลต่อผู้บริโภคมากมายมหาศาล แต่เอาเบอร์4 เบอร์ 5 ควบรวมกัน และเป็นเบอร์ 4 เบอร์ 5 ที่ทิ้งช่วงจากเบอร์ 1,2,3 เยอะมาก แชร์รวมกันน่าจะไม่เกิน 2-3% ของตลาด มันคงไม่มีผลต่อโครงสร้างตลาดมากมาย
ดูเหมือนเป็นการพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ในการดำเนินนโยบายที่ไม่เหมาะสมเท่าที่ควร
ด้าน ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและ สื่อใหม่ ระบุว่า การควบรวม CAT-TOT เป็นกลไกทางการตลาดอย่างหนึ่ง การควบรวม CAT-TOT เป็นทางออกเชิงนโยบบายอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นแนวทางให้รัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ได้มองเป็นตัวอย่างและควบรวมกันเพื่อลดการขาดทุนในการประกอบการ
ถึงแม้ว่าหลายคนจะมองว่าการควบรวมกันเป็นเพื่อผูกขาดของภาครัฐ ซึ่งต้องย้อนกลับไปมองว่ารัฐวิสาหกิจของรัฐในการสู้กับเอกชนเป็นอย่างไร ซึ่งพบว่า CAT-TOT เมื่อแข่งกับเอกชนก็พบว่าไม่สามารถสู้ภาคเอกชนได้ หากทั้ง 2 องค์กรไม่ควบรวมกัน ทำให้ทั้งปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินและการลงทุนที่ซ้ำซ้อนทำให้ไม่สามารถมีสมรรถนะในการแช่งขันกับเอกชนได้
หากทั้ง 2 องค์กรควบรวมกัน ในแง่ของทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ทั้ง 2 บริษัทมี ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน โคร่งข่ายต่าง ๆ ที่มีการลงทุนไปแล้ว ก็พอที่จะมีโอกาสที่จะแข่งขันกับเอกชนรายอื่น ๆ ได้ และผลักดันตลาดยุค 5G ไปต่อได้ ทั้งนี้ ในส่วนของประสิทธิภาพต้องจับตาดูอีกครั้งหลังจากนี้
หากมองในแง่ของการผลักดันประเทศสู่ยุค 5G ดร.สิขเรศ มองว่า ภาพรวมของตลาดโทรคมนาคม ยุค 5G จะไม่สามารถมองเป็นผู้ประกอบการเป็นราย ๆ ได้อีกต่อไป แต่ต้องถอยกลับมาดูภาพรวมทั้งตลาด
ขณะที่ในการประมูลครั้งนี้ หาก CAT-TOT ไม่ได้สิทธิประโยชน์เหมือนการประมูล-จัดสรรครั้งที่ผ่าน ๆ มา การได้เปรียบ-เสียเปรียบอาจไม่เกิดขึ้นมากนัก ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าคลื่นในมือของสัมปทานเก่าของ กสทช. ด้วยว่าแต่ละเจ้ามีอะไรอยู่เท่าไหร่
“การรวมตัวของทั้ง 2 องค์กร หากมองในแง่ของส่วนแบ่งการตลาด แม้การรวมของทั้ง 2 องค์กรจะไม่ได้ทำให้เกิดปรากฏการพลิกฟ้าจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็ทำให้การแข่งขันตื่นเต้นขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่ในด้านการตลาดอาจไม่ได้มีผลกระทบมากนัก แต่หากมองในแง่ประโยชน์ของประชาชน การรวมตัวของทั้ง 2 องค์กร หากเป็นไปตามทฤษฐีจะทำให้ประสิทธิภาพในการให้บริการดีขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีการบริหารจัดการกันอย่างไร” ดร.สิขเรศ
ประมูล 5G รออีกปีก็ไม่สาย:
ดร.สมเกียรติ ย้ำว่า ถึงอย่างไรทุกประเทศคงต้องทำบริการ 5G แต่ว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องรีบร้อน เร่งรัดการประมูล 5G ในเร็ววันเพราะว่าทุกวันนี้ ถามว่าอะไรคือ use case ของ 5G ที่ทำรายได้ได้ ไม่มีใครมีคำตอบให้ เอกชนบางรายประมูล 5G เอาไปทำบริการ 4G เพราะว่า 5G ยังไม่มี use case อุปกรณ์ต่าง ๆ ยังราคาแพง เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น (มันไม่เหมือนอุปกรณ์ 3G แล 4G) ในขณะที่รายได้ยังไม่มี
ถ้า “ควบรวม CAT-TOT” ได้ไปแล้วไม่สามารถใช้คลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เอาไปดำเนินการแล้วไม่มีลูกค้า ขาดทุน จะเป็นผลเสียต่อการใช้ทรัพยากรของประเทศ มี 4 รายมาเคาะแย่งกัน แต่คนไม่พร้อมได้ไป ซึ่งจะมีปัญหาต่อการใช้ทรัพยากร
“ถ้าเลื่อนออกไปสัก 1 ปี ความเหมาะสมจะมีมากกว่านี้ ช่วงเวลาไม่เหมาะสม มันเร็วเกินไป 5G มันไม่ต้องรีบประมูล รออีก 1 ปีไม่สาย”
Contributors: ทรงกลด แซ่โง้ว, นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ