พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ได้ลงประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นมาตรการที่ออกมาปราบปรามและป้องกันภัยไซเบอร์โดยเฉพาะ เพราะทุกวันนี้คนไทยต้องเจอมิจฉาชีพสารพัดรูปแบบที่มาทางออนไลน์ จากความก้าวหน้าของโลกออนไลน์และโซเชี่ยลมีเดีย ทำให้มิจฉาชีพอาศัยช่องโหว่ หรือเล่นกับความหวาดกลัว หลอกลวงเหยื่อให้สูญเสียทรัพย์สินเงินทอง
สำหรับมาตราที่น่าสนใจของพ.ร.ก.ฉบับนี้ที่เรียกกันสั้นๆว่า พ.ร.ก.ป้องกันภัยไซเบอร์ มีในส่วนของโทษผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชีม้าและซิมม้า และผู้จัดหา ว่าจ้างให้ผู้อื่นเปิดบัญชีม้าและซิมม้า มาดูโทษกันว่าจะรุนแรงอย่างไร ดังนี้
มาตรา 9 ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน ทั้งนี้โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 10 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 11 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 5 ปีหรือปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เห็นโทษกันแล้ว..ก็อย่าคิดที่จะรับจ้างเปิดบัญชี เพื่อให้ได้เงินมาเพียงไม่กี่ร้อยกี่พันบาท เพราะในช่วงเวลานี้อาจไม่คุ้มกับโทษที่จะได้รับ มีโทษหนักทั้งจำคุกและปรับอ่วม ดังนั้นควรคิดให้ดีก่อนจะให้คนอื่นเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ดีไม่ดี อาจโดนคดีอื่นๆตามมาอีกด้วย