HomeEditor's Pickอากาศดีๆ อยู่ที่เมืองไหนในโลก

อากาศดีๆ อยู่ที่เมืองไหนในโลก

หลายเมืองใหญ่ๆ ในโลก ล้วนมีแผนปรับปรุงสภาพอากาศ ให้ปลอดจากมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นกรุงโคเปนเฮเกน วอชิงตัน นิวยอร์ก หรือเมลเบิร์น โดยเมืองหลวงของเดนมาร์กเล็งที่จะก้าวไปสู่เมืองที่ปลอดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอีก 6 ปี

เป้าหมายดังกล่าวเท่ากับว่ากรุงโคเปนเฮเกน จะเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของโลกที่ปลอดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

แล้วโคเปนเฮเกนทำได้ยังไงน่ะเหรอ เริ่มจากการเดินทางที่มีรถไฟใต้ดินคอยให้บริการทุก 2 นาทีในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อที่ชาวเมืองจะได้ไม่ต้องใช้รถส่วนตัว อันจะช่วยลดการปล่อยมลพิษได้

นับถึงขณะนี้เมืองหลวงของเดนมาร์ก ซึ่งตั้งเป้าจะเป็น “เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและจักรยานมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลก” ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 42% แล้ว นายกเทศมนตรีบอกว่าวิธีนี้เป็นการพัฒนาที่ดีที่สุด เพราะทำให้มีพื้นที่โล่งกว้างมากขึ้น อากาศสะอาดบริสุทธิ์ขึ้น มลพิษทางเสียงลดน้อยลง และคนในเมืองก็มีสุขภาพดีขึ้น

- Advertisement -

ย่านอุตสาหกรรม Nordhavn กำลังถูกแปลงโฉมให้มีความยั่งยืนภายใต้แนวคิด “เมือง 5 นาที” อันหมายความว่าสามารถเดินจากอพาร์ตเมนต์ไปโรงเรียนอนุบาล, ร้านค้า, บริการสาธารณะ รวมถึงรถไฟใต้ดินสายใหม่ ได้ในเวลา 5 นาที และหากต้องการไปลานจอดรถรวม ก็สามารถขี่จักรยาน เดิน หรือขึ้นรถสาธารณะไปได้ เพราะอาคารต่างๆ ในย่านนี้ไม่มีที่จอดรถส่วนตัว

นอกจากลดการใช้รถยนต์แล้ว กรุงโคเปนเฮเกนยังมุ่งมั่นให้อากาศในเมืองสะอาดบริสุทธิ์ ดังนั้น รถบัสจึงเปลี่ยนจากน้ำมันดีเซลไปใช้ไฟฟ้า

จริงๆ เมืองหลวงของเดนมาร์กขึ้นชื่อเรื่องการใช้จักรยาน เพราะหลังจากเกิดวิกฤตน้ำมันเมื่อทศวรรษ 70 รัฐบาลก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับการวางแผนเมืองที่ให้ความสำคัญกับรถยนต์ และเริ่มสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับจักรยาน ทำให้คนเริ่มหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้นจาก 10% เป็น 62% ในปัจจุบัน ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานก็รองรับการพัฒนาส่วนนี้มากขึ้น ด้วยการสร้างเลนใหม่สำหรับจักรยานและคนเดินเท้า รวมถึงสถานีซ่อมจักรยาน และไฟจราจรที่ให้ทางจักรยาน

ความเคลื่อนไหวในด้านอื่น รวมถึงการหันไปใช้พลังงานทดแทน จากการติดตั้งกังหันลมขนาดยักษ์ 62 ตัว ที่สามารถกำเนิดไฟฟ้า 158 เมกะวัตต์ ทั้งยังมีโรงงานแปลงขยะเป็นความร้อนและไฟฟ้า

สำหรับอาคารต่างๆ ก็ได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อจะได้ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ทั้งยังมีความพยายามในด้านอื่น รวมถึงการลดเนื้อสัตว์ในอาหารสำหรับโรงเรียนอนุบาล โรงพยาบาล และสถานที่สาธารณะอื่นๆ

นายกเทศมนตรีกรุงโคเปนเฮเกนหวังว่า การเคลื่อนไหวนี้จะเป็นการส่งสารไปถึงเมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วโลก ว่ามาตรการ ”สีเขียว” ก่อให้เกิดสิ่งดีๆ และสามารถเดินหน้าไปพร้อมกับการสร้างงาน การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ในฟากของสหรัฐ มีหลายเมืองที่ตื่นตัว อย่างกรุงวอชิงตันดีซี ที่มีแผนใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เต็ม ภายในปี 2575 หรืออีก 13 ปี ด้วยการออกกฎหมายให้ปรับปรุงอาคารสำนักงานในเมืองเพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นอกจากนั้น ภายในปี 2588 หรืออีก 26 ปี รถโดยสาร แท็กซี่ ลิมูซีน และรถสาธารณะอื่นๆ ต้องใช้ยวดยานที่ไม่ปล่อยมลพิษ

ในทำนองเดียวกัน นครนิวยอร์กอนุมัติแผนการกำหนดให้อาคารใหญ่ๆ กว่า 50,000 แห่ง ตั้งแต่อพาร์ตเมนต์ไปจนถึง Trump Tower ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2573 หรือ 11 ปี ด้วยวิธีการอย่างเปลี่ยนระบบทำความร้อนหรือทำความเย็นให้เป็นรุ่นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือใช้ฉนวนและหน้าต่างแบบที่ดีกว่าเดิม หรือใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาดอย่างแสงอาทิตย์และพลังน้ำ

ด้านเมืองเมลเบิร์นในออสเตรเลีย ตั้งเป้าให้การปล่อยมลพิษอยู่ที่ระดับศูนย์ ด้วยการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ตามหลังคาอาคารต่างๆ ปรับปรุงอาคารเพื่อการพาณิชย์ ปรับปรุงไฟตามถนนให้ใช้พลังงานน้อยลง 56% ซึ่งลดค่าไฟได้ปีละกว่าล้านดอลลาร์และลดการปล่อยก๊าซต่างๆ ได้กว่าแสนตันในช่วง 10 ปีข้างหน้า

นอกจากนั้น เมืองใหญ่อื่นๆ ก็เคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหา อย่างกรุงลอนดอนกำหนดเขตปล่อยมลพิษต่ำเมื่อเดือนเม.ย. โดยรถเก่าที่ปล่อยมลพิษจะเสียค่าธรรมเนียมแพงขึ้นหากขับเข้าไปกลางเมือง

ส่วนเมืองคาลการีในแคนาดาสร้างรถไฟสาย Green Line คาดว่าระยะแรกจะแล้วเสร็จในอีก 7 ปีและน่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ปีละ 30,000 ตัน หรือเท่ากับเอารถยนต์กว่า 23,000 คันออกจากท้องถนนในแต่ละปี

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News