นักท่องเที่ยวทะลักภูเก็ต 1 ล้านคน 100 สัญชาติ พูลวิลล่า..ขาดแคลน!
ภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกและจังหวัดเดียวของไทยที่เปิดให้มีการทดลองเดินทางท่องเที่ยวในปี 2564 ก่อนเปิดประเทศเต็มรูปแบบ นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรูปแบบ “แซนด์บ๊อกซ์” คือนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านเกาะภูเก็ตทางเดียว เมื่อผ่านการกักตัว 14 วันแล้วจึงสามารถออกจากเกาะภูเก็ตไปเที่ยวต่อที่จังหวัดอื่นได้ทั่วประเทศ กลายเป็นต้นแบบความสำเร็จระดับโลก แต่กว่าจะผ่านพ้นวิกฤตจนสามารถทำภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ได้ คนภูเก็ตต้องตกอยู่ในสภาพ “จนเฉียบพลัน” “บิสิเนสทูเดย์” มีโอกาสสนทนากับ “ธนูศักดิ์ พึ่งเดช” อดีตประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเพิ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 หลังดำรงตำแหน่ง 2 วาระ ครบ 4 ปี ปัจจุบันเป็นประธานอาวุโส หอการค้าจังหวัดภูเก็ต เล่าเรื่องราวของภูเก็ตทั้งวันวานที่ขมขื่น วันนี้ที่สดใส และอนาคตที่กำลังจะมาถึง
อยากให้ทบทวนบรรยากาศภูเก็ตช่วงโควิด-19 ระบาด
พูดสั้นๆให้เห็นภาพ เรามีรายได้ทางเดียวคือท่องเที่ยว เมื่อเดือนมีนาคม 2563 เริ่มต้นปิดสนามบิน ก็เท่ากับว่าไม่มีนักท่องเที่ยว เท่ากับไม่มีรายรับ ก็คือจนเฉียบพลัน รายได้ต่อหัวของคนภูเก็ตเป็นศูนย์ รายได้เฉลี่ยต่อคนประมาณ 4-7 หมื่นบาท เหลือ 3 พันบาท นั่นคือตัวเลขของความจนเฉียบพลัน ในขณะที่จังหวัดรอบตัวเราอีก 76 จังหวัด ยังพอมีรายได้อื่นมาเจือจุน ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการเกษตร ส่งออก ประมง หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ว่าภูเก็ตรายได้เกิดมาจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว โรงแรม อาหาร ที่พัก หรือการขายอสังหาริมทรัพย์ เมื่อไม่มีคนเข้ามาก็เท่ากับไม่มีรายได้ เป็นสภาวะความเสี่ยงในความรู้สึก เรียกว่าเป็นฟิลลิ่งที่เศร้าและก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ทิศทางจะไปทางไหน
กิจการล้มหายไปกี่เปอร์เซ็นต์?
100 เปอร์เซ็นต์เลยครับ เพราะไม่มีเครื่องบินสักเที่ยว ความหมายคือไม่มีรายได้เลย ที่มีเหลืออยู่คือจับจ่ายใช้สอยกันเอง หลายกิจการต้องไปเจรจากับธนาคาร ขอพักหนี้ไว้ก่อน จนมาอีกสักระยะ รัฐบาลพยายามจะทำไทยเที่ยวไทย ดึงคนไทยเข้าไปท่องเที่ยว
เริ่มเห็นความหวังช่วงไหน?
ประมาณปี 2564 ต้นปีเราได้พูดคุยกันในภาคเอกชนว่าจะทำอย่างไรให้ภูเก็ตกลับมาเร็วที่สุด ที่ประชุมสรุปว่าเราจะตั้งเกณฑ์ขอเปิดภูเก็ตวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นเวลาที่เราคิดว่าเป็นช่วงไฮซีซั่น หลังจากนั้นก็ประสานกับทางจังหวัด จังหวัดประสานรัฐบาล รัฐบาลส่งรองนายกรัฐมนตรีสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ มาพูดคุย ท่านบอกว่าถ้าภูเก็ตตั้งเป้าจะเปิดเดือนตุลาคม ทำไมไม่เปิดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จากตุลาคมเลื่อนมากรกฎาคม ซึ่งพวกเราต้องขอบคุณท่านที่เลื่อนเวลาขึ้นมาให้เร็วขึ้น ทีนี้การเปิดภูเก็ตในเดือนกรกฎาคมต้องทำอย่างไร ก็เป็นประเด็นที่ต้องหาวิธีทำให้ไม่มีการขยายหรือการติดเชื้อของคนที่เข้ามาในสภาวะโควิด เกิดเป็นโมเดล “ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์” ต่อรองกับท่านรองนายกฯสุพัฒนพงษ์และคณะ รวมถึงผู้บริหารในรัฐบาลว่า เราขอวัคซีนก่อนได้ไหม ถ้าเราฉีดวัคซีนคนภูเก็ตภายใน 3 เดือน ได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์ทั่วทั้งเกาะ เรารับใครมาก็ไม่กลัวว่าจะติดเชื้อ ถึงติดเชื้อก็ยังมีภูมิคุ้มกัน ท่านสุพัฒนพงษ์ก็ผลักดันจนสำเร็จ เริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 พอถึง 1 กรกฎาคม 2564 ก็เป็นวันดีเดย์เปิดไฟท์บินแรก นักท่องเที่ยวเข้ามาภูเก็ตจังหวัดเดียวในประเทศไทย โดยที่ไม่เข้าไปสุวรรณภูมิและดอนเมือง เราได้ทำให้เกาะมีความปลอดภัย มีการตั้งกติกาเรื่องการกักตัวนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภูเก็ต 14 วัน ปรากฏการณ์ของภูเก็ตแซนบ๊อกซ์ ทำให้คนภูเก็ตที่ไม่มีกิจกรรมทางด้านธุรกิจติดต่อกันมา 1 ปี เกิดความมั่นใจว่าโอกาสเริ่มเข้ามาแล้ว ช่วยลดความกดดันของชาวภูเก็ต เพราะฉะนั้นภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์มีประโยชน์ในด้านการสร้างบรรยากาศให้คนภูเก็ตที่รู้สึกว่าตัวเองอาจจะไม่มีอนาคต เริ่มเห็นอนาคต ค่อยๆเติบโต ถือเป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดเราที่มีนักท่องเที่ยวผ่านเกาะภูเก็ตทางเดียว ซึ่งยังไม่เคยปรากฏมาก่อนตั้งแต่มีประเทศไทย เราก็สกรีนให้ 7 วัน 14 วัน ออกจากเกาะภูเก็ตก็ไปเที่ยวต่อที่จังหวัดอื่นทั่วประเทศไทย เกิดความสำเร็จ เกิดความมั่นใจ ทำให้แบรนด์ของภูเก็ตมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับไปทั่วโลก เพราะในช่วงเวลานั้นแม้กระทั่งสิงคโปร์ก็เปิดไม่ได้ ทั้งที่เป็นเกาะเหมือนเรา เขาพยายามจะทำแบบเรา แต่ทำแล้วก็ออน-ออฟ ทำปุบ ติดเชื้อ หยุด แต่ภูเก็ตเปิด 1 กรกฎาคม 2564 จนเข้าสู่ภาวะปกติโดยที่ไม่มีการติดเชื้อเพิ่มเลย ถือเป็นการร่วมมือของภาครัฐและเอกชนที่ประสบผลสำเร็จอย่างมาก ซึ่งค่าใช้จ่ายในการออกแบบโปรแกรม วิธีการลงทะเบียน วิธีบริหารจัดการ เกือบทั้งหมดเป็นเงินของภาคเอกชนที่ลงทุนและทำให้ จนกลายเป็นตัวอย่างให้หอการค้าไทยนำไปเป็นโมเดลการฉีดวัคซีนที่กรุงเทพฯ โดยภาคเอกชนสนับสนุน
วันนี้นักท่องเที่ยวเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโควิดหรือยัง?
ยังไม่เท่าก่อนโควิด ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการต่างๆในภูเก็ตก็ยังไม่สามารถกลับมาให้บริการได้เต็มรูปแบบเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด เพราะว่ามีประเด็นเรื่องของแรงงาน ตอนที่เราปิดจังหวัดช่วงเดือนมีนาคม ปี 2563 แรงงานตกงานกะทันหัน 2 แสนคน ซึ่งทั้ง 2 แสนคนออกจากเกาะภูเก็ตไปเลย กลับมาอีกครั้งตอนช่วงภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ แต่กลับมาไม่หมด กลับมาประมาณ 1.2-1.3 แสนคน ยังขาดอีกหลายหมื่นคน ทำให้ยังไม่สามารถจะฟื้นเกาะภูเก็ตมาอยู่ในสภาพเดิมได้ หมายถึงว่าวันนี้ โรงแรมเปิดครบ ร้านอาหารเปิดครบ แต่กิจกรรมต่างๆยังไม่ครบ ก็เลยเกิดปรากฏการณ์นักท่องเที่ยวที่มาในขณะนี้น้อยกว่าช่วงปี 2562 ก็จริง แต่กลายเป็นว่าเรารับมือไม่ไหว กิจกรรมการดูแลนักท่องเที่ยวไม่สามารถดูแลได้ดีเท่ากับปี 2562 เพราะยังมีแรงงานที่หายไปจากระบบหลายหมื่นคน แต่ถ้ามองในแง่ของเศรษฐกิจถือว่าดีมาก คือนักท่องเที่ยวเกินกำลังการดูแล แต่จำนวนไม่ยังเท่ากับปี 2562
ปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเท่าไหร่?
ในปี 2562 เรามีตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน นักท่องเที่ยวคนไทย 4 ล้านคน รวมเป็น 14 ล้านคน ตัวเลขของปีนี้ น่าจะได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่สำคัญคือนักท่องเที่ยวเปลี่ยนสัญชาติเยอะขึ้น ในปี 2562 ตัวเลขของเราเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน อันดับ 1 รัสเซีย อันดับ 2 แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวรัสเซีย อันดับ 1 อินเดีย อันดับ 2 ส่วนนักท่องเที่ยวชาวจีนยังเข้ามาน้อย เนื่องจากในช่วงที่นักท่องเที่ยวรัสเซียเข้ามา จีนยังปิดประเทศอยู่ ขณะที่รัสเซียอากาศหนาว มีสงคราม จึงหลั่งไหลเข้ามาในช่วงพฤศจิกายน ธันวาคม และมกราคม จำนวนมาก เฉลี่ยเดือนละ 1 แสนคน เฉพาะคนรัสเซีย แต่รวมทั้งหมดประมาณ 2 แสนคนต่อเดือน
นักท่องเที่ยวชาวไทยยังมากันมากไหม?
ช่วงก่อนจะมีรัสเซียเข้ามา นักท่องเที่ยวชาวไทยขึ้นมาสูงมาก ด้วยการช่วยเหลือของภาครัฐที่มีโครงการคนละครึ่งกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยมากกว่าปกติ แต่มาขณะนี้ผมมองว่านักท่องเที่ยวชาวไทยไปเที่ยวต่างประเทศเยอะขึ้น ประกอบกับวันนี้ในภูเก็ตไม่ใช่เฉพาะรัสเซีย แต่ตอนนี้ข้อมูลระบุว่ามีมากถึง 100 สัญชาติเลยทีเดียว เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามาก นักท่องเที่ยวชาวไทยก็จะหายไปตามธรรมชาติ เริ่มไปเที่ยวที่อื่นแทน ปัจจุบันกลุ่มตะวันออกกลางก็เริ่มเข้ามามากขึ้น
ค่าบริการห้องพักเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด?
ด้วยความที่ห้องพักไม่พอ แรงงานขาดแคลน ราคาต่างๆขยับขึ้นสูงนิดหนึ่ง อาหารอาจจะไม่ได้สูงมาก แต่ห้องพักระดับดาวบนๆ ราคาสูงกว่าตอนปี 2562 เนื่องจากไม่ใช่ทุกโรงแรมจะสามารถเปิดได้ครบทุกรูม เช่นมีโรงแรม 200 ห้อง อาจจะเปิดได้แค่ 100 หรือ 150 ห้อง เพราะแรงงานมีไม่เพียงพอ อันนี้เราพูดถึงช่วงไฮซีซั่นนะ แต่หลังจากเดือนเมษายนไปแล้วก็ยังเป็นห่วงว่ายังจะได้แบบนี้หรือเปล่า พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม ถือเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของเรา ก็ยังหวังว่าขอให้นักท่องเที่ยวยังมีเข้าเหมือนเดิม ซึ่งอาจจะมีคนจีนเข้ามาแทนก็ได้
บรรยากาศถนนคนเดินเป็นอย่างไร?
หนาแน่นมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่โด่งดัง เพราะว่าเป็นเรื่องของโอลด์ทาวน์ มีการพัฒนาต่อเนื่องมาหลายปี มีนักธุรกิจทั้งในภูเก็ตและเจนใหม่ๆไปทำร้านอาหารอร่อย ของดี ของโชว์ กลายเป็นสถานที่ที่ถูกกล่าวถึง รวมถึงเมืองเองก็มีการนำสายไฟลงใต้ดิน ทำให้สวยงามขึ้น ตกแต่งอาคาร สร้างวัฒนธรรมอาหาร ของฝาก หลากหลาย เปิดทุกอาทิตย์ กลางวันไปเที่ยวทะเล วันอาทิตย์มาเดินถนนคนเดิน
อสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตคึกคักแค่ไหน?
อันนี้เป็นที่ตั้งข้อสังเกตได้ว่า เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามา เขาก็อยากลงทุน ยกตัวอย่างรัสเซีย อาจจะมีมาซื้อสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทยอยู่แล้ว แต่พอมีสงคราม อากาศหนาวจัด มาเยอะกว่าเดิม ผมว่าเขาประทับใจประเทศไทย ประกอบกับเรามีค่าใช้จ่ายไม่สูง ราคาอสังหาไม่แพงมาก จึงเกิดปรากฏการณ์ซื้ออสังหากันเยอะ และยังมีการเริ่มเข้ามาลงทุนด้วย ตอนนี้อสังหาไม่ว่าจะเป็นเมืองชายทะเลทั้งหมด กลายเป็นดี ประกอบกับทางรัสเซียเขาก็เป็นแผ่นดินที่ไม่ค่อยมีทะเลสะดวกสบายเหมือนเรา วันนี้อสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ในเกณฑ์เป็นบวกที่ชาวต่างชาติสนใจเข้ามาซื้อ
โครงการใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้น?
ถ้ากล่าวถึงในกลุ่มอสังหา ช่วงก่อนหน้านี้ก็เป็นอานิสงส์ของคนที่ทำอสังหาไว้แล้ว พร้อมขาย ทำให้ขายดี ธุรกิจที่เคยซบเซาก็เข้าสู่โหมดดีขึ้น เพราะว่าของที่เหลือขายกลายเป็นของที่ขายได้ ส่วนกลุ่มใหม่เริ่มทำรูปแบบบ้านพักตากอากาศที่ทันสมัย อาทิ พูลวิลล่า มีการลงทุนทำบ้านราคาดี คุณภาพสูง อันนี้กำลังกลายเป็นตลาดบนที่เปิดตัวมากขึ้น บางโครงการเปิดตัววันเดียวขาย 5 พันล้านบาท สำหรับโครงการใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นผมมองว่าคงไม่เน้นจำนวน แต่เน้นคุณภาพสูง เหมือนวิลล่า บ้านพักพรีเมียม ไม่ใช่วอลลุ่ม เพราะว่าเราไม่มีวอลลุ่มอยู่แล้ว เนื่องจากเราขายต่างชาติที่จะมาอยู่ หรือมาซื้อบ้านพักหลังที่สอง เพราะฉะนั้นวอลลุ่มหรือจำนวนไม่ใช่คำตอบ เป็นเรื่องของไฮแวลูมากกว่า
คาดว่าธุรกิจในภูเก็ตจะกลับมาเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิดเมื่อไหร่?
ผมคิดว่าตอนนี้พวกเรายังเจ็บตัวกัน เพราะว่า 2 ปีกว่าจะได้ค้าขาย กว่าจะได้กลับมาร่าเริงก็แค่ 5-6 เดือน แต่ที่โดนมาไม่น้อยกว่า 2 ปี เพราะฉะนั้นก็กำลังนำรายได้มาปิดรายจ่ายหรือหนี้สินที่รัฐบาลหรือทางธนาคารพยายามจะช่วยเหลือในยุคก่อนหน้านี้ ไม่ต้องจ่ายเงินต้น ทยอยจ่ายดอก จึงต้องนำรายได้ไปปิดหนี้ที่ค้างมาช่วง 2 ปี เพราะฉะนั้นจึงยังไม่คิดว่าจะเป็นความมั่นคง แต่ว่าแนวโน้มดี มีความมั่นใจ ซึ่งถ้าสถานการณ์ต่อเนื่องเป็นอย่างนี้ ผมคิดว่าจะกลับมาอยู่ในสภาพที่ดีกว่านี้ อาจจะช่วงปลายปี 2566 เราอาจจะกลับมาเหมือนปี 2562