HomeEditor's Pickเช็ค GDP ไทย สำนักไหนลดเหลือเท่าไหร่บ้าง

เช็ค GDP ไทย สำนักไหนลดเหลือเท่าไหร่บ้าง

การเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้  ดูเหมือนว่าจะลุ้นยากเต็มที  เอาแค่ GDP ปีนี้โตตามเป้าหมายที่วางไว้ก็ถือว่าเก่งเต็มที่  อุปสรรคใหญ่ก็คงหนีไม่พ้น “สงครามการค้า” ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ดูแล้วน่าจะยังยื้อกันพักใหญ่ๆ อย่างน้อยๆ ก็คงลากไปจนถึงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 แน่ๆ แต่จะยื้อกันอีกนานแค่ไหนคงไม่ใช่ปัญหาสำคัญ  แต่อยู่ที่ว่าระหว่างทางจะมีแรงปะทุเกิดมาอีกกี่ระลอกมากกว่า  และมากกว่านั้นจะกระเทือนไปทั่วโลกมากแค่ไหน

สำหรับไทยแล้วหลังจากที่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาเปิดเผย GDP ไทยไตรมาส 2/62 ขยายตัว 2.3% และปรับลดประมาณการณ์ GDP ปีนี้เหลือเติบโต 3% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 3.6%  บรรดาสำนักวิจัยต่างๆ ก็พากันปรับประมาณการณ์ GDP ปีนี้ลงกันทั่วหน้า  Business Today จึงรวบรวมมาฝากว่าแต่ละสำนักปรับลดลงเท่าไหร่กันบ้าง

ประมาณการณ์ GDP62

ส่งออกไทยกระทบหนัก จากสงครามการค้า

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ระบุว่า จากแรงกดดันเรื่องสงครามการค้า  ส่งผลกระทบต่อการส่งออกปีนี้  โดยขณะนี้ส่งออกตอนนี้หดตัว 2.7%  จากตลาดส่งออกสำคัญหดตัว  โดยตลาดจีน -5.5%  อาเซียน -4% ยุโรป -2.7% ในขณะที่สินค้าสำคัญก็หดตัวเช่นเดียวกัน  ขณะที่ IMF ปรับประมาณการการค้าโลกลงจาก 3.4% เหลือเพียง 2.5% นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทเป็นอีกปัจจัยที่มีส่วนทำให้ยังคงไม่เห็นการฟื้นตัวของการส่งออกได้เร็วในปีนี้

- Advertisement -

ฝ่ายวิจัยกรุงศรี ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในช่วงช่วงชะลอตัว ขณะที่ระดับความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มขึ้นจาก 8.9% ในไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 15.7% ในไตรมาส 2 นับเป็นการเพิ่มขึ้น 11 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งสะท้อนได้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ในกรณีเลวร้ายหากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลง 1% เป็นเวลานาน 2 ไตรมาสหรือ 0.5% เป็นเวลานาน 4 ไตรมาส จะส่งผลให้ความน่าจะเป็นที่ไทยจะเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้ค่อนข้างมาก เช่น ความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่บั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกรุนแรง อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2020

ส่งออกไม่ดี เสี่ยงคนตกงานเพิ่ม

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT ระบุว่า เมื่อการส่งออกมีปัญหา จะเริ่มเห็นผู้ประกอบการปรับแผน โดนลดกำลังการผลิตลง และจะมีผลต่อการนำเข้าเครื่องจักร รวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ เกิดภาวะเงียบเหงา เมื่อภาคเอกชนชะลอการลงทุน จะส่งผลกระทบต่อมายังภาคการบริโภค การจ้างงานจะมีแนวโน้มลดลง ชั่วโมงการทำงานมีแนวโน้มถูกตัดมากขึ้น

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า  สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้ายังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งหากผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมีมากขึ้นจนส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ และการจ้างงาน มาตรการภาครัฐอาจจะมีความจำเป็นต้องเข้ามาดูแลเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะออกมา เพื่อประคับประคองประเด็นเฉพาะหน้าให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างจากการปรับลดการจ้างงาน

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News