ที่เมืองไมอามี มีโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง ที่สอนเรื่องสติและสมาธิ ควบคู่ไปกับวิชาคณิตศาสตร์และการอ่าน รวมถึงสอนให้เด็กมีความสุข
Centner Academy คือโรงเรียนแห่งใหม่ในเมืองไมอามีที่เปิดรับนักเรียนในเดือนก.ย. และเริ่มต้นการเรียนการสอนด้วยการทำสมาธิ ส่วนตอนรับประทานอาหารกลางจะมีการสอนเรื่องสติด้วย และตลอดทั้งวันจะมีการสอนบทเรียนอย่าง ความฉลาดทางอารมณ์ รวมถึงการรับมือยามเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทาย
ทางโรงเรียนให้ความสำคัญกับความสุขและความเป็นอยู่ที่ดี ไม่แพ้บทเรียนทางวิชาการ ทั้งยังมีหลักสูตรภาษาจีนกลางในฐานะภาษาที่สอง
Leila และ David Centner เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ โดยได้คำแนะนำจาก Tal Ben-Shahar ผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตวิทยาเชิงบวก ผู้ร่วมก่อตั้ง Happiness Studies Academy และเคยสอนวิชาความสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
Ben-Shahar บอกว่า Marty Seligman นักจิตวิทยาที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อเขา มักตั้งคำถาม 2 คำถามตอนที่คุยกับผู้ปกครองและครู คำถามแรกคืออยากให้ลูกเป็นอะไร คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้จากปากพ่อแม่คืออยากให้ลูกมีความสุข มีเพื่อนดีๆ มีสุขภาพดี คำถามที่สองคือเด็กเรียนอะไรที่โรงเรียน คำตอบคือเรียนการเขียน การอ่าน เรียนเลข คำตอบสองข้อนี้แทบไม่มีคำตอบไหนตรงกันเลย
แน่นอนว่าวิชาการที่สอนกันมาตลอด ถือว่ามีความสำคัญ แต่ศาสตร์แห่งความสุขสะท้อนว่าการละเลยเป้าหมายแรกหรือคำตอบข้อแรก เป็นสิ่งไม่สมเหตุผล
สองสามีภรรยาผู้ก่อตั้งโรงเรียน ได้มองหาโรงเรียนให้ลูกสาวตัวเองมาพักหนึ่ง แต่หาไม่ได้ และย้อนนึกถึงเหตุการณ์ตอนไปเข้าคลาสที่อินเดีย ซึ่งสังเกตเห็นว่าคนอื่นๆ ในห้องทำคะแนนด้านวิชาการดีมาก แต่ไม่มีความสุข ทำให้ตระหนักได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่ทั้งคู่กำลังเรียนรู้อยู่นี้ หากมีการสอนเด็กๆ ตั้งแต่เข้าโรงเรียน น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกได้
Ben-Shahar เคยพัฒนาหลักสูตรสำหรับโรงเรียนต่างๆ และทดลองใช้ในอิสราเอล โดยอาศัยข้อมูลจากการวิจัยของเขา ปรากฏว่าสามารถช่วยให้เด็กรู้สึกดี ลดความวิตกกังวล และเกรดก็ดีขึ้นด้วย เขาจึงนำหลักสูตรนี้มาบรรจุไว้สำหรับโรงเรียนที่ไมอามี โดยฝังไว้ในดีเอ็นเอเลย ไม่ใช่แค่เรียนสัปดาห์ละวันสองวัน
ความสุขแบ่งเป็น 5 ทาง ได้แก่ ทางจิตใจ ทางร่างกาย ทางปัญญา ความสุขในเชิงสัมพันธ์ และทางอารมณ์ จากนั้นก็สอนให้เด็กลงมือทำเพื่อให้เข้าถึงความสุขในด้านต่างๆ ตั้งแต่การทำสมาธิ ไปจนถึงการผูกสัมพันธ์กับคนจริงๆ ไม่ใช่คนบนโลกออนไลน์หรือโลกเสมือน
นอกจากนั้น ทางโรงเรียนยังพยายามสอดแทรกบทเรียนผ่านเรื่องราวต่างๆ เช่น ในการเรียนการสอนเรื่องของโธมัส เอดิสัน ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นยอดนักประดิษฐ์นั้น มีไม่กี่คนที่พูดถึงความจริงที่ว่าเอดิสันล้มเหลวมามากต่อมาก จนอาจเรียกได้ว่าล้มเหลวมากกว่านักประดิษฐ์คนใด การสอนอย่างนี้ก็เพื่อสื่อสารแนวคิดที่ว่าต้องเรียนรู้จากความล้มเหลว
นอกจากนั้น โรงเรียนยังมีแผนจะคุยกับผู้ปกครองด้วย เพราะถ้าโรงเรียนสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี แต่พอเด็กกลับบ้านแล้วเจอพ่อแม่อารมณ์เสียเข้าใส่ หรือนำความวิตกกังวล ความกลัว แรงกดดันมาใส่ลูกๆ ก็อาจกระทบต่อสิ่งที่โรงเรียนพยายามหล่อหลอมไป
แม้เป็นโรงเรียนเอกชน แต่ผู้ก่อตั้งมีแผนพัฒนาหลักสูตรพิเศษสำหรับนักเรียนตามโรงเรียนรัฐบาล และพัฒนารูปแบบที่สามารถนำไปใช้ในวงกว้าง ทั้งยังหวังว่าเมื่อนักเรียนจบออกไปแล้ว จะนำทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนโยน เห็นอกเห็นใจ หรือความฉลาดทางอารมณ์ มาใช้ในสังคม