ในช่วงที่ผู้คน 3,000 ล้านชีวิต หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของทั้งโลก กำลังเก็บตัวเองในบ้าน, จำกัดการเดินทาง และเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพื่อสกัดการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ผู้คนพากันพยายามหากิจกรรมทำในช่วงดังกล่าว และบรรดาผู้ให้บริการสตรีมมิงทั้งเก่าและใหม่ทั่วโลก ก็พยายามเป็นหนึ่งในตัวเลือก รวมถึงสถานีโทรทัศน์และเว็บไซต์รายงานข่าวสาร
นักวิเคราะห์แห่งเวดบุชซีเคียวริตีส์ มองว่าความต้องการบริการสตรีมมิงจะเพิ่มขึ้นมากในช่วง 3-6 เดือนหน้า อันเป็นช่วงที่ผู้คนทั่วโลก น่าจะถูกจำกัดการเดินทางในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง และน่าจะทำให้เวลาของการดูสตรีมเพิ่มขึ้น 20 นาที ส่วนลูกค้าใหม่ๆ ทั่วโลกนั้นอาจเพิ่มขึ้นหลายล้านคน
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเน็ตฟลิกซ์เผยว่ายอดผู้ชมเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งนี้ บรรดาบริษัทสตรีมมิงค่อนข้างสงวนท่าที เพราะอยากทำหน้าที่คลายเหงาและคลายความวิตกแก่ผู้ที่เก็บตัวอยู่บ้าน มากกว่าจะฉวยโอกาสจากการระบาด
HBO Now บริการสตรีมมิงของเคเบิลทีวี พบว่าเวลาของการรับชมเพิ่มขึ้น 40% เมื่อวันที่ 14 มี.ค. เทียบกับเดือนก่อน ส่วนการชมซีรีส์แบบติดต่อกันในแต่ละวัน เพิ่มขึ้น 65%
เน็ตฟลิกซ์ ซึ่งอยู่แถวหน้าอย่างสบายๆ ส่งอีเมลถึงลูกค้าเพื่อแนะนำซีรีส์ต่างๆ ด้านวอลท์ดิสนีย์นำแอนิเมชั่นเรื่อง “Frozen 2” มาฉายทางบริการสตรีมมิง Disney Plus เร็วกว่าที่วางแผนไว้ 3 เดือนสำหรับผู้ชมในสหรัฐ แคนาดา ฮอลล์แลนด์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ด้าน Hulu ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือดิสนีย์ ตอนนี้มีรายการชูโรงในรูปของซีรีส์ “Little Fires Everywhere” ที่ดัดแปลงจากนิยายขายดี
บริการสตรีมมิงยังมีจากยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่างแอมะซอน ที่รุกเข้าทำบริการวิดีโอ Amazon Prime Video มานานแล้ว แต่เพิ่งเข้าตลาดสตรีมมิงระหว่างประเทศเมื่อ 4 ปีก่อน นอกจากนั้น ยังมี Apple TV ซึ่งเปิดตัวใน 100 ประเทศ ล่าสุดยังมี Peacock ที่จ่อเปิดตัว ผลจากการผนึกกำลังกันของยักษ์ใหญ่บันเทิง คือเอ็นบีซียูนิเวอร์แซล กับวอร์เนอร์มีเดีย และอาจมาเปลี่ยนเกมสตรีมมิงก็เป็นได้
นอกจากบริการสตรีมมิงแล้ว ช่องทีวีประเภทที่ต้องจ่ายเงินเพื่อรับชม ก็อาจได้อานิสงส์ เช่นเดียวกับบรรดาสถานีโทรทัศน์ โดยในอินโดนีเซียมีรายงานว่าจำนวนผู้ชมทีวีเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการแถลงและรายงานข่าวโควิด-19 รวมถึงการชมรายการต่างๆ เพื่อความบันเทิงในอันที่จะคลายเครียดจากโรคระบาด
คณะกรรมการกระจายเสียงอินโดนีเซียระบุว่า ทีวีกลายเป็นแนวหน้าในความพยายามกระจายข่าวสารไปยังสาธารณชนในช่วงนี้ เพราะทีวีไม่รายงานข่าวลวงและมักตรวจสอบก่อนเสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีคณะกรรมการกระจายเสียงคอยกำกับดูแล สิ่งนี้สะท้อนว่าประชาชนยังเชื่อมั่นในสื่อกระแสหลัก
คณะกรรมการกระจายเสียงอีกคนของอินโดนีเซีย ชี้ว่าข่าวปลอมจำนวนมากทางโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้คนหันมาดูทีวี ในฐานะแหล่งกระจายข่าวสารที่เชื่อถือได้
นอกจากในอินโดนีเซียแล้ว การรับชมทีวีมากขึ้น ยังเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
บริษัทวิจัยข้อมูล นีลเสน เปิดเผยรายงานที่คาดหมายว่าในบรรดาแพลตฟอร์มมากมายนั้น คนอเมริกันจะดูทีวีมากถึง 60% สำหรับประเทศอื่นที่เผชิญโควิด-19 ก็มีคนดูทีวีมากขึ้นเช่นกัน อย่างในเกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้น 17% และในอิตาลีเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเดือนที่แล้ว โดยเฉพาะในแคว้นลอมบาร์เดีย ศูนย์กลางการระบาดในอิตาลี ที่ยอดคนดูทีวีเพิ่มขึ้น 12%
นอกจากนั้น เว็บไซต์ข่าวก็เป็นอีกแหล่งข้อมูลข่าวสารที่คนนิยมเข้าไปดู เห็นได้จากเว็บของบีบีซีนิวส์ ที่คนแห่เข้าไปอ่านข่าวจำนวนมาก และ 10 ข่าวยอดนิยมล้วนเป็นข่าวเกี่ยวกับโควิด-19
ขณะที่ข้อมูลจาก Parse.ly บริษัทที่วัดคอนเทนต์ของเว็บไซต์กว่า 3,000 เว็บของสหรัฐ พบว่าช่วงต้นเดือนมี.ค. บทความเกี่ยวกับไวรัสโคโรนามีสัดส่วนเพียง 1% ของบทความที่เผยแพร่ และ 13% ของบทความที่คนอ่าน แต่ 2-3 สัปดาห์ต่อมายอดวิวบทความเกี่ยวกับโควิด-19 เพิ่มขึ้น 50%