ไวรัสโควิด-19 ยังคงอาละวาดสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่หยุด ล่าสุด ประเด็นการจ้างงาน ที่พบว่า มีชาวอเมริกัน เข้ามายื่นขอสวัสดิการคนว่างงานมากกว่า 3 ล้านคน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า จำนวนผู้เข้ามายื่นขอสวัสดิการการว่างงานในสัปดาห์ที่แล้ว มีมากถึง 3,300,000 คน โดยเป็นผลพวงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้กิจการหลายพันแห่งต้องปิดตัว ขณะที่โรงงานอีกหลายแห่งต้องลดกำลังการผลิตลง
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวทุบสถิติเดิมของยอดคนขอรับสวัสดิการคนว่างงานรายสัปดาห์ ในปี 1982 ที่ 695,000 คน ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เผชิญกับอัตราเงินเฟ้อครั้งใหญ่
สื่อท้องถิ่นส่วนหนึ่งรายงานว่า จำนวนดังกล่าว ทำให้เว็บไซต์ของหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายแห่ง เช่น ในรัฐนิวยอร์กและโอเรกอน ล่ม ส่วนผู้ที่เดินทางไปหน่วยงานสวัสดิการสังคมด้วยตนเองต้องเข้าคิวรอหลายชั่วโมง
ด้านนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง มองว่า ตัวเลขคนขอรับสวัสดิการในครั้งนี้ เป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่สะท้อนความเสียหายทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 โดยเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าสัปดาห์ที่แล้ว ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯ รายสัปดาห์อยู่ที่ 282,000 คนเท่านั้น สะท้อนให้เห็นตลาดจ้างงานที่ค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญวิตกกังวลก็คือ ความเสียหายทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งอดีตที่ความเสียหายทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากวิฤติการเงิน หรือ หายนะภัยทางธรรมชาติ เพราะ ไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ให้ผลกระทบทางลบแบบเหมารวมที่ทุกฝ่ายและทุกอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายเหมือนกันหมด
ขณะที่ นักวิเคราะห์บางรายมองว่า ไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะถดถอยเรียบรอยแล้ว แม้ว่าจะยังไม่เข้าข่าย คำจำกัดความของเศรษฐกิจถดถอยที่ต้องหดตัว 2 ไตรมาสต่อเนื่องกันก็ตาม
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังแสดงความกังวลว่า จุดยืนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่ต้องการเปิดประเทศอีกครั้งในเดือนหน้า ช่วงเทศกาลอีสเตอร์ อาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศให้บอบช้ำรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะถ้าสหรัฐฯ รีบยุติมาตรการคุมเข้มในการสกัดกั้นการระบาด อาจทำให้ต้องมีการ ชัตดาวน์ หลายครั้ง ซึ่งเป็นผลร้ายยาวนานต่อเศรษฐกิจมากกว่า
นายมาร์ค แซนดี หัวหน้านักวิเคราะห์เศรษฐกิจของ Moody’s Analytics ถึงกลับแสดงความเห็นว่า การตัดสินใจดังกล่างของประธานาธิดบีทรัมป์ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้
ส่วนนาย เบน เบอร์นันคี อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เห็นว่า จำเป็นต้องทำให้แน่ใจก่อนว่า ภาครัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ด้านสาธารณสุขและไวรัสโควิด-19 ได้อย่างเด็ดขาด ก่อนที่ประชาชนจะสามารถกลับไปทำงานได้เหมือนเดิม
ที่มา CNN
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐ แซงหน้าจีน ขณะที่ยอดเสียชีวิตในอิตาลีสูงที่สุดในโลก