กองทุนหมู่บ้านฯนำร่องแนวคิดย้อนยุค “บาร์เตอร์เทรด” เป็นระบบค้าขายก่อนยุคเงินตรา ที่มีการเแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้า มาใช้ในระดับชุมชน โดยจัดให้มีการแลกเปลี่ยน “ข้าวสาร-อาหารทะเล” ระหว่างชุมชน 2 แห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสมุทรสาคร
“บาร์เตอร์เทรด” เป็นหนึ่งในหลายแนวทางที่มักจะนำมาใช้ เมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่หรือทุนนิยมประสบกับภาวะชะงักงัน และกระทบต่อการค้าขายของชุมชน
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ก่อให้เกิดวิกฤติขึ้นมาอีกครั้ง และเป็นวิกฤติที่ยังคาดการณ์ได้ยากว่าจะจบเมื่อไร ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง ที่ลงลึกถึงระดับชุมชน
สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(กบท.) ได้จัดโครงการนำร่องจากสมาชิกกองทุนหม่บ้าน โดยมีการลงนามร่วมกันระหว่างนายเชเว่น เสงี่ยมเฉย ประธานกองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินชุมชนหมู่ที่ 4 ต.ปากจั่น อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา และนายบุญเติม รอดสุภา ประธานกองทุนหมู่บ้านสถาบันการเงินหมู่บ้านท้องคุ้ง หมู่ที่ 6 ต.กาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(กบท.) กล่าวว่า นับเป็นโครงการนำร่องและช่วยจุดประกาย การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชน เมือง หรือประเทศ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ บาร์เตอร์เทรด(Barter Trade)
ระบบการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนถือเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนสินค้าที่เคยมีมาแต่โบราณ สร้างความเข้มแข็งและมีศักดิ์ศรีให้แก่ชุมชน สร้างความร่วมมือระหว่างส่วนราชการ องค์กร และชุมชน ลดภาระของส่วนราชการในการไปดูแลชุมชน
“ระบบการแลกเปลี่ยนอาหาร ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารและสร้างเข้มแข็งทางวัฒนธรรม อีกทั้ง สร้างโอกาสให้ชุมชน ควบคู่กับการเชื่อมโยงของคนในกองทุนหมู่บ้าน ให้เป็นมากกว่าการบริการทางการเงิน แต่จะเป็นการทำให้สถาบันกองทุนหมู่บ้านเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชุนในเรื่องของอาหาร และผลิตภัณฑ์ชุมชน ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19”
นายรักษ์พงษ์ กล่าวอีกวว่าหากบารฺกเตอร์เทรดสามารถทำได้ในระดับประเทศ จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของสินค้ากับเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสถาบันการเงินของชุมชนที่จัดตั้งขึ้นโดยกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง มองว่าเป็นโอกาสในการสร้างให้ชุมชนเชื่อมโยงสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารระหว่างกัน ที่เป็นมากกว่าการบริการทางการเงิน
“ระบบนี้ยังช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทำให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติได้อย่างดีในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่วิกฤติเศรษฐกิจทำให้ชุมชนขาดสภาพคล่อง เนื่องเพราะระบบเศรษฐกิจโดยรวมต้องชะงักงันในช่วงโควิด-19 ระบาดทำให้การทำมาค้าขายปกติทำไม่ได้เต็มที่”
นายรักษ์พงษ์ กล่าวว่าการนำโมเดลบาร์เตอร์เทรดมาใช้ในสถานการณ์นี้จึงน่าจะเป็นทางออกหนึ่ง เพราะสามารถใช้ แพลทฟอร์มที่ทันสมัย ระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงกันทั้งสองฝ่าย
“การแลกเปลี่ยนสิ่งของต่อสิ่งของเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อยามเกิดวิกฤตโรคระบาด และยามขาดแคลนเงินสด”