“ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เฉพาะกิจ ว่า ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจเดือนก.ค.2564 ในภาพรวมปรับลดลงจากเดือนก่อนในทุกภาคธุรกิจ ตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศในวงกว้าง และผลของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่กลับมาเข้มงวดอีกครั้ง โดยเฉพาะภาคก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทันทีหลังมีคำสั่งปิดแคมป์คนงาน เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวและภาคการค้าที่ได้รับผลกระทบจากการจำกัดการเดินทาง การปรับเวลาการให้บริการ และห้ามนั่งรับประทานในร้าน
ขณะที่ภาคการผลิตยังคงถูกกดดันจากการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในโรงงาน ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ปัญหาการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ตลอดจนการปิดโรงงานของคู่ค้าที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
ด้านการฟื้นตัวของการจ้างงานค่อนข้างทรงตัวทั้งด้านจำนวนแรงงานและรายได้เฉลี่ย ยกเว้นการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวลดลงตามการปิดกิจการชั่วคราว และภาคก่อสร้างที่ลดลงตามกิจกรรมที่หยุดชะงักหลังมีคำสั่งปิดแคมป์ ส่งผลให้แรงงานบางส่วนเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนา โดยธุรกิจส่วนใหญ่ใช้นโยบายสลับกันมาทำงาน และลดชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่ธุรกิจบางส่วนเริ่มกลับมาใช้นโยบายลดเงินเดือนเพิ่มเติม โดยเฉพาะภาคที่มิใช่การผลิต
ทั้งนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องสำรองใกล้เคียงกับเดือนก่อน แต่เริ่มเห็นบางธุรกิจมีสภาพคล่องลดลง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและภาคก่อสร้าง สะท้อนจากสัดส่วนของธุรกิจที่มีสภาพคล่องไม่เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการฟื้นตัวของธุรกิจที่ปรับแย่ลง
ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ ประเมินว่า ประชาชนจะเริ่มออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านและท่องเที่ยวตามปกติได้เมื่อมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่น้อยกว่า 50 คนต่อวัน และเกิดได้ในช่วงไตรมาสแรก 2565 ขณะที่บางส่วนมองว่าการเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอและทั่วถึงเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่า
นอกจากนี้ ธปท. ยังได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับลดลงมากทั้งภาวะปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดและแผนการกระจายวัคซีนไม่ชัดเจน
โดยความเชื่อมั่นปรับลดลงในทุกภาค ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ทวีความรุนแรงในทุกพื้นที่ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับลดลง สะท้อนภาวะยืดเยื้อของสถานการณ์และความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่จะแย่ลงกว่าเดิม รวมถึงความล่าช้าของการจัดการวัคซีน ด้านความเชื่อมั่นทุกประเภทร้านค้าในภาวะปัจจุบันปรับลดลงมากจากเดือนก่อน โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารที่ถูกกระทบโดยตรงจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ 90% ประเมินว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคปรับลดลงมาจากเดือนก่อน และไม่เห็นพฤติกรรมเร่งกักตุน แม้จะมีการสั่งปิดห้าง และประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวสู่ระดับปกติจะเลื่อนออกไปเป็นปี 2566 ซึ่งล่าช้ากว่าที่เคยประเมินไว้อีก 1 ปี