เยอรมนี มีแนวโน้มจะขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไปจากวันที่ 10 ม.ค. เพื่อลดอัตราการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งยังอยู่ในระดับสูง อันทำให้บุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลต้องทำงานกันอย่างหนัก
รัฐมนตรีสาธารณสุขเยอรมนี ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวานนี้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นจึงต้องขยายเวลาใช้มาตรการล็อกดาวน์ออกไป เพื่อให้อัตราการติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ดีกว่าการรีบผ่อนคลายมาตรการ แล้วไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นกลับมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก
เมื่อวานนี้ เยอรมนีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่ม 10,315 คน เสียชีวิต 312 ราย ทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 34,272 ราย
คาดว่านายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล และผู้นำรัฐต่าง ๆ จะเห็นพ้องขยายมาตรการล็อกดาวน์ในการประชุมวันอังคาร โดยยังไม่ชัดเจนว่าจะขยายเวลาออกไปเท่าใด บางรัฐที่มีการระบาดมากขอให้ขยายเวลาออกไปอีก 3 สัปดาห์ บางรัฐให้ขยายเวลา 2 สัปดาห์
เยอรมนีเพิ่มความเข้มงวดมาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนเทศกาลคริสต์มาส ไม่ว่าจะเป็นการปิดร้านอาหารและร้านค้าส่วนใหญ่ แต่อัตราการติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น และผู้เสียชีวิตยังสูงกว่าพันรายในบางวัน
ปัจจุบันอัตราการติดเชื้อในช่วง 7 วัน อยู่ที่ 140 คนต่อประชากร 100,000 คน อันสูงกว่าตัวเลขเป้าหมายที่ 50 คนต่อแสนคน ซึ่งบรรดาผู้กำหนดนโยบายมองว่าปลอดภัยพอผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ขณะที่ล่าสุดเมื่อมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้การระบาดดำเนินไปอย่างรวดเร็วขึ้น นักการเมืองและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์บางคน เรียกร้องให้ผ่อนคลายมาตรการเมื่ออัตราการติดเชื้อช่วง 7 วัน ลดเหลือ 25 คนต่อแสนคน
หัวหน้าหน่วยแพทย์ห้องไอซียูระบุว่า สัปดาห์หน้าโรงพยาบาลต่าง ๆ จะได้เห็นตัวเลขว่าช่วงเทศกาลคริสต์มาสมีการระบาดของโควิด-19 ไปมากน้อยแค่ไหน ส่วนการติดเชื้อช่วงเทศกาลปีใหม่นั้นต้องรออีกระยะหนึ่งจึงทราบผล
ในทำนองเดียวกัน นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ ระบุว่า อาจเข้มงวดมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้น เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น แต่โรงเรียนยังปลอดภัยและนักเรียนควรไปเรียนในพื้นที่ ๆ ยังอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอน
อังกฤษรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่ม 57,725 คนเมื่อวันเสาร์ นับเป็นวันที่ 5 ติดกันที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุหลัก 50,000 คน ส่วนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 445 ราย อันทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตอยู่ที่มากกว่า 74,000 ราย
ด้านอินเดีย หลังจากอนุมัติวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซเนก้าไปแล้ว ล่าสุดได้อนุมัติวัคซีน COVAXIN ของบริษัท Bharat Biotech ที่พัฒนาร่วมกับสภาวิจัยทางการแพทย์อินเดีย เพื่อใช้เป็นการฉุกเฉิน
อ่าน : อินเดีย อนุมัติ วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซเนก้าแล้ว
ผู้บริหารหน่วยงานควบคุมยาของอินเดีย ระบุว่า ประสิทธิภาพโดยรวมของวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า อยู่ที่ 70.42% ส่วน COVAXIN ของ Bharat Biotech ซึ่งเป็นบริษัทอินเดียนั้น มีความปลอดภัยและกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานที่แข็งแกร่ง