ศาลายา สตาร์ทอัพ ทาวน์ เป็นโครงการที่เปลี่ยนพื้นที่ในมหาวิทยาลัยและพื้นที่รอบข้างให้เป็นแพลตฟอร์ม สร้างระบบนิเวศสมบูรณ์ให้สตาร์ทอัพ ผ่านความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางด้าน Healthcare ของอาเซียน
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หน่วยงานการศึกษาของไทยมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยจะสอนเฉพาะทาง แต่ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไปในรูปแบบ Comprehensive University ครอบคลุมทุกด้านทั้งวิศวกรรมศาสตร์ แพทย์ และ สังคมศาสตร์ ทั้งหมดมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและ คนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจเฉพาะตัวและแคบลง
-เศรษฐกิจขี้เกียจ-เศรษฐกิจแบ่งปัน หนุนอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพในไทยโตต่อเนื่องปี 2019
-จุฬาฯ ผุด ‘Block28’ หนุนสตาร์ทอัพ ต่อยอดงานวิจัย
มหาวิทยาลัยมหิดลเริ่มมาจากการแพทย์ มาจากโรงพยาบาล คณะวิศวกรรมศาสตร์เปิดขึ้นมา 30 ปีแล้ว ใน 15 ปีแรกเน้นเรื่องการสอนเพียงอย่างเดียว แต่ 15 ปีหลังที่ผ่านมาเริ่มทำวิจัยมากขึ้น โดยเน้นวิจัยทางการแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ โดยมีโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ที่จะถูกปรับไปเป็นศิริราช 2 เพื่อรองรับคนไข้ใน จ.นครปฐม สำหรับทดลองงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยได้ เนื่องจากมีคนไข้มากถึง 4-5 ล้านคน/ปี
สร้างระบบนิเวศสมบูรณ์ให้สตาร์ทอัพ
ศาลายามีพื้นที่อยู่ประมาณ 1,200 ไร่ มีระบบเชื่อมโยงกันระหว่างคณะ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์มีพื้นที่ประมาณ 1.2 หมื่นตารางเมตร สำหรับสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ มีแผนพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแพลตฟอร์มด้าน Healthcare โดยเฉพาะ ร่วมมือกับ Depa และ NIA ให้ส่งคนที่สนใจเรื่อง Healthcare มาที่ศาลายา
มหาวิทยาลัยมหิดลได้สร้างอาคารใหม่ที่เป็นศูนย์หุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง 6 ชั้น เพื่อให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ให้สตาร์ทอัพเป็นมาตรฐานในระดับสากล โดย “ผศ.ดร.จักรกฤษณ์” เสริมว่า ในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะที่มีความสามารถในด้านนี้เลย สตาร์ทอัพในไทย 99% จะเน้นพัฒนาแอปพลิเคชันเข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ แต่สตาร์ทอัพจะยั่งยืนจริง ๆ ต้องพัฒนา Deep Tech เป็นผลิตภัณฑ์ที่คัดลอกยากและตอบโจทย์ปัญหาในเชิงลึกได้
ใช้ Maker Space เป็นพื้นที่ทำงานให้คนเข้ามาพูดคุยให้เกิดไอเดียและพิมพ์แบบออกมาจนทำให้ถึงใช้งานได้ โดยมีเครื่องพิมพ์ตัวอย่างชิ้นงานแบบ 3 มิติ ราคา 12 ล้านบาท สามารถพิมพ์ตั้งแต่พลาสติก โลหะ จนถึงวัสดุที่ใส่แทนกระดูกได้ นอกจากนี้ยังมีเครื่องสำหรับรวมชิ้นส่วนที่พิมพ์ออกมาเข้าด้วยกัน มีมอเตอร์ แผงวงจร ให้ยืมใช้ จากนั้นเมื่อทดสอบสำเร็จแล้วสามารถนำไปผลิตที่โรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้
ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการศึกษาแนวทางการพัฒนาใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่โดยรอบของสถานีศาลายา รองรับการเจริญเติบโตของเมือง ของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ที่กำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2565 ซึ่งการรถไฟฯ จะออกแบบพัฒนาฟื้นฟูเมือง ระบบสาธารณูปโภค การปรับปรุงโครงข่ายถนน ทางเข้าสถานี โครงข่ายทางเดินและทางจักรยาน และที่จอดรถ
ร่วมมือ EEC สร้างศูนย์กลางด้านการแพทย์
มหาวิทยาลัยมหิดลทำงานร่วมกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นโครงการของรัฐบาล ในเรื่องการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้จัดการโครงการ นำคนเก่งจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ บูรพา หรือเชียงใหม่
ในอมตะนครมีอยู่ 1,200 บริษัท มีประชากรทำงานอยู่ประมาณ 2 แสนคน เป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีความต้องการสร้าง Medic-Town ศูนย์กลางด้านการแพทย์การรักษาแบบก้าวหน้า โดยให้มหาวิทยาลัยมหิดลเข้าไปตั้งวิทยาเขต เข้าไปช่วยอัปสกิล รีสกิล พนักงานให้สามารถทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ และทำวิจัยการแก้ปัญหาหน้างานการใช้ระบบ IoT และหุ่นยนต์
“มหาวิทยาลัยยังเป็นที่ที่ให้ความรู้ สร้างความรู้ใหม่ ถ้าเราไม่ปรับตัว รองรับการเปลี่ยนแปลงของเด็กรุ่นใหม่ เราอาจจะต้องปิดตัวไปเหมือนกัน เด็กสมัยนี้เมื่อต้องการรู้อะไรก็จะเข้ามาเรียนเอง ต่างจากสมัยก่อนที่รอครูสอน เราจึงเปลี่ยนตัวเองเป็นแพลตฟอร์ม มากกว่าเป็นแค่ห้องเลกเชอร์ เรากำลังสูญเสียอุตสาหกรรมไปที่ประเทศเพื่อนบ้าน เราต้องปรับตัวไปเป็นผู้คิด ออกแบบ และวิเคราะห์ เป็นศูนย์กลางของอาเซียน เด็กจะได้เข้ามาเรียนกับการทำงานจริง เมื่อจบไปอาจจะเปิดบริษัทได้ ต่อยอดได้”
