ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานกรรมการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดตัว
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร (ซ้าย) / ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ (ขวา)
โครงการแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ “EXIM Thailand Pavilion” ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขายสินค้าบนบัญชี EXIM BANK ใน Alibaba.com ฟรี
เป้าหมายของ EXIM BANK ในการสร้างผู้ส่งออกป้ายแดง
ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานกรรมการกำหนดกลยุทธ์ และนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของ EXIM BANK : โควิด-19 ได้เร่งการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งสภาพแวดล้อม และพฤติกรรมของผู้บริโภค ให้เชื่อมโยงสู่โลกออนไลน์อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด และครอบคลุมอย่างกว้างขวางทั่วโลก ทำให้ธุรกิจออนไลน์เติบโต และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการค้าออนไลน์โลกจะสูงถึง 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และ 7.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 เทียบกับ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 และ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563
EXIM BANK จึงริเริ่มให้มี “EXIM Thailand Pavilion” เป็นแพลตฟอร์มใหม่ของการค้าออนไลน์ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงได้ เป็นการช่วยย่นระยะทาง และระยะเวลาการติดต่อธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ซื้อในต่างประเทศ เพื่อช่วยสร้างผู้ส่งออกรายใหม่ หรือผู้ส่งออกป้ายแดงของไทยได้มากขึ้น กว่าจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพียงไม่ถึง 1% จากจำนวนผู้ประกอบการทั้งประเทศ 3 ล้านราย
โดยมี EXIM BANK ให้การสนับสนุนด้านข้อมูลความรู้ เงินทุน ตลอดจนเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกรายใหม่ สามารถค้าขายในทุกตลาดอย่างมั่นใจ มีความพร้อมด้านสภาพคล่อง และได้รับความคุ้มครองกรณีไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยเฉพาะคู่ค้ารายใหม่ที่เพิ่งติดต่อ และตกลงค้าขายระหว่างกันทางออนไลน์
กับดักทางธุรกิจที่ SMEs ยังต้องเผชิญ แม้สถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายคืออะไร
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK : ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ยังค้าขายออนไลน์ในประเทศเป็นหลัก ทั้งที่ตลาดในประเทศ มีข้อจำกัดหลายประการ
ทั้งขนาดตลาดที่ไม่ใหญ่ ด้วยประชากรเพียง 66 ล้านคน คิดเป็น 10% ของอาเซียน และ 0.9% ของโลก ในมิติขนาดเศรษฐกิจ ไทยมีขนาดเพียง 16% ของ อาเซียน หรือ 0.6% ของโลก อีกทั้งยังเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้การจับจ่ายใช้สอย ไม่คึกคักเหมือนในอดีต
อะไรคือ EXIM Thailand Pavilion และทำไมต้องใช้ EXIM Thailand Pavilion
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK : “EXIM Thailand Pavilion” เป็นโครงการที่ EXIM BANK จัดทำร่วมกับ AJ E-Commerce, Alibaba.com Authorized Partner เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีช่องทางนำสินค้าไปขายบนแพลตฟอร์มการค้าระดับโลก
ภายใต้บัญชีสมาชิก “EXIM Thailand Pavilion” ของ EXIM BANK เมื่อมีผู้ซื้อจากต่างประเทศ ติดต่อให้ความสนใจสินค้า ระบบจะทำการแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบ ผ่านช่องทาง SMS และ E-mail ทันที
ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการจะสามารถวางขายสินค้าบนบัญชีของ EXIM BANK เป็นระยะเวลา 1 ปี (หรือ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย) พร้อมจัดให้มีทีมงานบริหารร้านค้า และทำการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย แถมพี่เลี้ยงที่ช่วยบริหารจัดการและประชาสัมพันธ์สินค้า ยกระดับสินค้าและบริการของไทย ให้ได้มาตรฐานสากล พร้อมตอบสนองความต้องการผู้บริโภคยุค Next Normal
นอกจากนี้ EXIM Thailand Pavilion ยังเชื่อมโยงกับเครือข่ายบริษัทจัดจำหน่าย สินค้า (Trading) และผู้ให้บริการคลังสินค้าพร้อมจัดส่ง (Fulfillment) ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้า และบริการของไทย เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยเชื่อมโยงกันภายใต้ Supply Chain ของ E-Commerce โลก
การแก้ไข Pain Points และสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศให้ SMEs ไทย
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK : EXIM Thailand Pavilion เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ EXIM BANK ริเริ่มและพัฒนาขึ้น เพื่อสร้างทางรอดให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs มีช่องทางขายสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลก Alibaba.com และสามารถเข้าถึงผู้ซื้อ (Active Buyers) จำนวนกว่า 26 ล้านราย เน้นการขายส่งระหว่างผู้ผลิตกับธุรกิจต่าง ๆ เฉลี่ยต่อวันมากกว่า 400,000 รายการ
ผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับโอกาสเข้าไปอยู่ใน Supply Chain ของ E-Commerce โลก สอดรับกับเมกะเทรนด์ของโลก Next Normal ในระยะถัดไป
EXIM BANK จะทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อเตรียมความพร้อมให้ SMEs ไทย สามารถเริ่มต้นส่งออกครั้งแรกบน “EXIM Thailand Pavilion” และขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ช่วยสร้างรายได้ และชื่อเสียงให้แก่สินค้าไทยในเวทีการค้าโลก
ฝากถึงผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ไทย ทำอย่างไรจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK : จากจำนวนผู้ส่งออก SMEs ไทยที่มีไม่ถึง 1% ของทั้งระบบ ขณะที่ผู้ส่งออกไทยที่ค้าขายออนไลน์ระหว่างประเทศ ก็มีจำนวนน้อยมาก เทียบกับประเทศอื่นใน อาเซียน อาทิ เวียดนาม มีจำนวนผู้ส่งออก SMEs สูงถึง 10% ของ SMEs ทั้งประเทศเวียดนาม นับเป็นสัดส่วนสูงกว่าไทยถึง 10 เท่า อีกทั้ง 30% ของ SMEs เวียดนามยังค้าขายออนไลน์ระหว่างประเทศแล้ว
จึงเห็นได้ว่า การค้าออนไลน์ มีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ ให้ยังคงดำเนินต่อไปได้ โดยเฉพาะในวิกฤตโควิด-19 ประกอบกับการเกิดปรากฏการณ์อภิมหาการลาออก (Great Resignation) และคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะประชากร Gen Z วัย 15-21 ปีในปัจจุบัน ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ ทำให้การค้าออนไลน์ของโลกในปี 2563 ขยายตัวอย่างรวดเร็วถึง 24% ขณะที่การค้าโลกหดตัว 9% ยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยทางออนไลน์ต่อยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยรวมเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 12% ในปี 2562 เป็น 23% ในปี 2563 และคาดว่าจะสูงถึง 30% ในปี 2568 จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs จะเร่งรุกตลาดส่งออกออนไลน์ ซึ่งตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภค และการใช้ชีวิตในรูปแบบวิถีใหม่ เพื่อกระจายตลาด สร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ และลดการพึ่งพาตลาดในประเทศที่ขยายตัวได้ยาก
EXIM BANK ทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อเตรียมความพร้อมให้ SMEs ไทยเริ่มต้นส่งออกครั้งแรกบน EXIM Thailand Pavilion และขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ช่วยสร้างรายได้และชื่อเสียงให้แก่สินค้าไทยในเวทีการค้าโลก” – ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร