Credit OK ผู้ให้สินเชื่อสำหรับ Microenterprises & SMEs ที่เจาะตลาดช่างและผู้รับเหมา เป็นอีกหนึ่งสตาร์ตอัพที่ต้องปรับแผนธุรกิจจากวิกฤติโควิด-19 ตั้งเป้าเล็งขยายตลาดเพิ่มหลังวิกฤติคลี่คลาย
ยิ่งยง ตันธนพงศ์พันธุ์ CEO and Co-Founder , Credit OK กล่าวกับ Business Today ว่า บริษัทก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2018 โดยมีความเชื่อว่ามีกลุ่มคนอีกจำนวนมากในประเทศ ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบธุรกิจได้ โดยเฉพาะกลุ่ม Microenterprises & SMEs ที่เป็นรากฐานของสังคมไทย เป็นแกนหลักสร้างเศรษฐกิจไทย
-Pomelo เทงบลงทุนสร้างฟีเจอร์ใหม่ ดันยอดออนไลน์พุ่ง สมดุลรายได้ออฟไลน์หด
Credit OK เข้ามาช่วยธุรกิจให้เข้าถึงเงินทุนที่ง่ายและรวดเร็ว รวมถึงมีการประเมินความเสี่ยงของธุรกิจด้วย
“เราเป็นฟินเทค (FinTech) ที่เกิดมาเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจรูปแบบนี้และมีความตั้งใจขยายไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีปัญหาคล้ายกับประเทศไทย”
ยิ่งยง กล่าวต่อว่า ฟินเทค หลาย ๆ ตัวในต่างประเทศ ใช้วิธีเดียวกับ Credit OK คือ ต้องมีข้อมูลผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถช่วยสร้าง คะแนนเครดิต หรือความเสี่ยงด้านเครดิต ให้อยู่บนฐานข้อมูล
ร่วมมือกับ SCG ตั้งแต่ปี 2018 ตั้งโปรแกรมสินเชื่อใช้เครดิตสกอร์ ที่พัฒนาขึ้นเองเพื่อประเมินความเสี่ยงที่ต่างจากธนาคารทั่วไป เข้ามาช่วยช่างและผู้รับเหมาที่ซื้อสินค้าของ SCG เข้าถึงแหล่งทุน โดยรวบรวมข้อมูลประมาณ 1 ปี ก่อนเข้าไปปล่อยสินเชื่อในปี 2019
“ปัจจุบันเราปล่อยสินเชื่อให้กับช่างและผู้รับเหมาประมาณ 100 กว่าราย ใช้เงินกู้ไปแล้วประมาณ 20 ล้านบาท ใน 6 เดือนที่ผ่านมา จากวงเงินเครดิตที่อนุมัติประมาณ 60 ล้านบาท”
ยอดเงินกู้มีตั้งแต่ 30,000 – 1 ล้านบาท โดยผู้กู้จะต้องเสียค่าธรรมเนียมจำนวนหนึ่ง และมีเครดิตเทอมอยู่ที่ 45 วัน ที่ไม่เสียดอกเบี้ย แต่ในกรณีชำระคืนหลังจาก 45 วัน จะมีดอกเบี้ยตามกฎหมาย
“กลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาซื้อสินค้ากับ SCG มีประมาณ 1 แสนคน แต่เราจะเข้าไปช่วยทุกคนไม่ได้ จึงต้องใช้ระบบเข้ามาประเมินความเสี่ยง ทั้งนี้เรามีเป้าที่จะขยายวงเงินเพิ่มขึ้น”
ต่างจากธุรกิจบัตรเครดิตอย่างไร?
ยิ่งยง กล่าวว่า เราเป็นสินเชื่อเพื่อธุรกิจแบบ Invoice Financing เวลาช่างออกไปซื้อของจะได้เครดิตในการซื้อของ โดยใช้ใบแจ้งหนี้ (Invoice) เป็นตัวตั้งปล่อยกู้ ซึ่งปกติเวลาช่างหรือผู้รับเหมาซื้อของจะใช้เงินสดซึ่งยากมากที่จะได้เป็นเครดิต
สิ่งที่ช่างหรือผู้รับเหมาจะได้คือเครดิต เอาของออกไปทำงาน จะช่วยลดความเสี่ยงได้มาก เป็นการปล่อยกู้เป็นของทำให้มั่นใจว่าจะนำไปใช้ทำงาน เพราะถ้าให้กู้เป็นเงินสดจะมีความเสี่ยงที่จะนำเงินไปใช้ผิดประเภทได้
ซึ่งร้านที่ขายวัสดุก่อสร้างของ SCG อยู่ในระบบของ Credit OK ประมาณ 50 ร้านค้า จากทั่วประเทศประมาณ 300-400 ร้าน
“เราเข้าไปทำระบบนี้ขึ้นมาเพื่อให้ช่างมีระบบเครดิตของตัวเอง สามารถใช้ระบบของเราไปซื้อสินค้ากับร้านค้า SCG ได้ และได้เครดิตยาว 45 วัน”
จับมือ Self Made Finance & Grab Finance นำเงินทุนปล่อยกู้
Credit OK มีพันธมิตร คือ Self Made Finance ซึ่งได้ร่วมมือกับ Grab Finance นำเงินทุนมาปล่อยกู้ โดย Credit OK & Self Made Finance เป็นผู้บริหารเงินเอง
ร่วมมือกันในเรื่องของการวิเคราะห์ ประเมินความเสี่ยง ทำคะแนนเครดิต โดยใช้ข้อมูลหลักจากประวัติการซื้อขายของช่างและผู้รับเหมา กับทาง SCG เป็นหลัก
มีการขออนุญาตร้านค้าตัวแทนจำหน่ายของ SCG เพื่อเข้าถึงข้อมูลช่างและผู้รับเหมากว่า 50,000 คน มาทำสกอร์เพื่อทดสอบเสถียรภาพ วัดความเสี่ยง หลังจากนั้นจะสามารถขยายฐานการปล่อยกู้เป็นหลัก 1,000 หรือ 10,000 รายได้ในอนาคต
ซึ่งในอนาคตก็จะมีการทดสอบ Psychometrics หรือแบบทดสอบทางจิตวิทยา ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศในโลกนี้ใช้ประกอบการให้กู้เงินกับผู้ประกอบการ
“ข้อดี คือ เป็นวิธีการเก็บข้อมูลสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีข้อมูล มีแค่บางคนที่มีงบการเงินดี และจดทะเบียนเป็นบริษัท โดยเฉพาะที่เก็บอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ที่ในประเทศแถบเอเชียมีน้อย ซึ่ง Psychometrics เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นำมาใช้ได้”
ปรับแผนหลังเจอวิกฤติโควิด-19
ยิ่งยง กล่าวว่า หลังจากเจอวิกฤคิโควิด-19 Credit OK ต้องปรับแผน และเป้าหมายลงไป แผนที่เขียนขึ้นมาในปี 2019 คือ การเติบโตในปีนี้ รวมถึงขยายไปกลุ่มอื่นอีกด้วย แต่วิกฤตินี้ส่งผลให้คนตกงาน และสถานประกอบการบางส่วนต้องปิดชั่วคราว ทำให้ขาดรายได้
ปรับการทำงานใหม่ โดยจะต้องระมัดระวัง และชะลอเป้าหมายการเติบโตไว้ก่อน บริหารสิ่งที่มีอยู่ให้ลูกค้ากลุ่มเดิมได้เข้ามาใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเติบโตในช่วงนี้อยู่ที่ประมาณ 10 – 20 รายต่อเดือน
คุมหนี้เสีย (NPL) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ ซึ่งปัจจุบัน Credit OK มีหนี้เสียไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ และมีโปรแกรมประนอมหนี้ช่วยช่างและผู้รับเหมาที่มีปัญหา
“เรายังประมาณว่าไม่ได้ว่าในอีก 2-3 เดือนที่จะถึง จะเกิดอะไรกับเศรษฐกิจไทย รวมถึงมาตรการของรัฐบาลจะช่วยได้ขนาดไหน”
ยิ่งยง กล่าวต่อว่า ธุรกิจที่อยู่ใน Food Service Chain เช่น ร้านอาหาร, โรงแรม, ธุรกิจจัดเลี้ยง, หรือคาเฟ่ ต่าง ๆ จะเข้าไปในอีกไม่นาน แต่จะเข้าไปอย่างระมัดระวัง
เกษตรกรรม เป็นอีกกลุ่มที่สนใจ เป็นกลุ่มที่ใหญ่มากและมีปัญหาเรื่องเงินทุนมานาน
“ผลกระทบของวิกฤติรอบนี้ จะต้องดูว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมากหรือน้อยขนาดไหน แต่ยืนยันว่าจะเข้าไปในกลุ่มนี้อย่างแน่นอน หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย”
ยิ่งยง กล่าวต่อว่า วงเงินเครดิตที่ได้จาก Grab Finance มาเริ่มต้น 20-50 ล้านบาท สามารถขยายไปได้อีกถึงหลัก 100 ล้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่เหมาะสม
ระดมทุนรอบ Seed Round 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปเมื่อปีที่ 2019 จาก Wavemaker Partners, True Incube และ Angle Investor จากสิงคโปร์อีก 1 ราย เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นหลัก
“รันเวย์ของเรายังยาวได้อีก 2-3 ปีข้างหน้า สำหรับเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”
คู่แข่งในตลาด
ยิ่งยง กล่าวว่า มีหลาย ๆ ธนาคารเริ่มสนใจตลาดนี้ โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซที่หลายธนาคารเข้าไปช่วยให้เงินทุนกับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ขาย ทั้ง Lazada และ Shopee
รวมถึงฟินเทคที่มาจากต่างประเทศ และการกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคล ผ่านช่องทางออนไลน์ (Peer to Peer Lending) ที่กำลังยื่นขอใบอนุญาตกัน น่าจะเป็นอีกกลุ่มที่เข้ามาทำตลาด
“ถ้าถามว่าเป็นคู่แข่งกับเราไหม ส่วนตัวคิดว่าตลาดนี้ใหญ่พอที่ทุกคนจะเติบโตได้ เพราะมีกลุ่มลูกค้าที่มากพอสำหรับทุกคน”
อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
ทรงกลด แซ่โง้ว – เรียบเรียง